Wildcards – เรื่องไม่คาดคิด เชิงอนาคตศาสตร์

Wildcards – เรื่องไม่คาดคิด เชิงอนาคตศาสตร์

นักอนาคตศาสตร์มักจะหลีกเลี่ยงการพยากรณ์หรือการทำนายอนาคต แต่จะใช้วิธีการมองอนาคตในรูปแบบของฉากทัศน์ (Scenarios)

ภายใต้บริบทต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ด้วยกระบวนการหรือเครื่องมือเฉพาะสำหรับอนาคตศาสตร์

เครื่องมือการมองอนาคตที่กำลังเป็นที่นิยมใช้ในหมู่ของนักอนาคตศาสตร์ นักวางแผนกลยุทธ์ทั้งในบริบททางธุรกิจและในบริบทของการกำหนดนโยบายภาครัฐหรือภาคสังคม มีชื่อเรียกว่า “Foresight”หรือ “การมองภาพอนาคต”

โดยความหมายในเชิงกว้าง การมองภาพอนาคต” หมายถึงกระบวนการคาดการณ์ภาพอนาคตร่วมกันของคนหลากหลายกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ถึงสิ่งที่จะเกิด และไม่เกิดขึ้นในอนาคตจากมุมมองของความเชี่ยวชาญในศาสตร์แต่ละสาขา แล้วนำผลที่เกิดขึ้นมารวมกัน จึงทำให้อคติจากความคิดเห็น และผลประโยชน์ส่วนตัวลดลง การได้มาซึ่งภาพอนาคต

เครื่องมือ “การมองภาพอนาคต” จะช่วยให้นักวางแผนกลยุทธ์ หรือผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องและตัดสินใจในการเลือกแนวทางเชิงกลยุทธ์ให้แก่องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ สามารถวาดภาพอนาคตออกเป็นฉากต่างๆ ที่องค์กรเห็นว่า จะเป็นภาพอนาคตที่องค์กรหมายมั่นจะทำให้เกิดภาพเช่นนั้นให้เป็นจริงขึ้นมา เพื่อสร้างพื้นฐานความมั่นคง ความอยู่ดีกินดี ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการขยายตัว และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งข้นขององค์กรให้เหนือคู่แข่ง

เครื่องมือ หรือ เทคนิค “การมองภาพอนาคต” จะแบ่งอนาคตที่องค์กรต้องการออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ที่จะมีลักษณะชี้นำเชิงกลยุทธ์ที่องค์กรจะเลือกนำมาใช้ เช่น อนาคตที่มีความเป็นไปได้สูง (Plausible Futures) เนื่องจากองค์กรสามารถใช้องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน มาต่อยอดอีกเล็กน้อย ตามแนวโน้ม หรือ “เทรนด์” ที่ชี้นำทิศทางของอนาคตอันใกล้ เพื่อสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งขัน

อนาคตที่อาจเป็นไปได้ (Possible Futures) เป็นภาพของอนาคตที่ต้องการองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ที่ในปัจจุบันยังไม่มีอยู่หรือยังไม่มีการค้นพบ แต่มีโอกาสที่จะสร้างหรือค้นพบขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งผลของภาพอนาคตในหมวดนี้ จะทำให้องค์กร สามารถกำหนดทิศทางของการวิจัยพัฒนา เพื่อค้นหาองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม รวดเร็ว และตรงประเด็นกับความต้องการในอนาคตขององค์กร

อนาคตที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ (Improbable Futures) เป็นภาพอนาคตที่ต้องใช้องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีชั้นสูงที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการศึกษาค้นคว้า หรือรวบรวมให้กลายเป็นศาสตร์แขนงใหม่ขึ้นมา โดยที่ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังคาดการณ์ว่า เกิดขึ้นได้ยาก หรือมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย

อนาคตที่พึงประสงค์ (Preferable Futures) เป็นผลจากการวิเคราะห์ภาพอนาคตต่างๆ แล้วนำมาผนวกเข้ากับทิศทางเชิงกลยุทธ์ ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม คุณค่าร่วม หรือวิสัยทัศน์ขององค์กร และสามารถนำมาปรับเป็นกลยุทธ์ระยะยาวสำหรับองค์กรได้

สัญญาณอ่อน (Weak Signals) หมายถึงปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มีข้อมูลหรือมีผู้รายงานไว้ แต่ปรากฏการณ์นั้นอาจไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ อาจมองว่าเป็นเหตุการที่บังเอิญเกิดขึ้น การติดตามสัญญานอ่อนที่องค์กรสนใจ จะบ่งบอกล่วงหน้าได้ว่า สัญญาณอ่อนใดที่อาจกลายเป็นแนวโน้ม หรือ “เทรนด์” ขึ้นมาได้ในอนาคต หรือสัญญาณอ่อนใด จะเป็นสัญญาณที่ไม่มีความหมายใดๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (Wildcards) หมายถึงเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างผลกระทบอย่างสูงต่อบริบทการดำเนินงานขององค์กร และมักจะถูกละเลยหรือมองข้ามไปในกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ หรือการวิเคราะห์ความเสี่ยงขององค์กร เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเหล่านี้ แบ่งได้เป็น สิ่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ ทั้งที่จะสร้างผลกระทบในเชิงบวก หรือเชิงลบเช่น การประกาศสงคราม การก่อการร้าย

ตัวอย่างในอดีตที่ถือได้ว่าเป็น Wildcards ได้แก่ การทะลายกำแพงเบอร์ลิน, เหตุการณ์ 911, การเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์, และการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

Wildcards ที่เกิดจากการกระทำของธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด, อุกกาบาตขนาใหญ่ชนโลก, โรคระบาดร้ายแรง ฯลฯ เป็นต้น

การระบาดของไวรัส Covid-19 ก็อาจถือได้ว่าเป็น Wildcard อีกเหตุการณ์หนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งองค์กรใดที่ใช้เครื่องมือกำหนดกลยุทธ์ หรือการวิเคราะห์ความเสี่ยง ที่ยังไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทันท่วงที ก็อาจเกิดผลกระทบได้อย่างรุนแรง จนถึงขั้นต้องยุติการดำเนินธุรกิจตามปกติ หรือถึงกับต้องเลิกกิจการไปเลย ก็เป็นได้