ปรับระบบสุขภาพภาครัฐจาก บัลลังก์เมฆ สู่บัลลังก์ทอง

ปรับระบบสุขภาพภาครัฐจาก บัลลังก์เมฆ สู่บัลลังก์ทอง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ เขียนเรื่องโครงการบัลลังก์เมฆ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นผู้ดำเนินการ

เอาเงินค่ารายหัวจากประชาชน 48 ล้านคนที่รัฐบาลอนุมัติรายปีมาให้บริการกับประชาชนประมาณ 20 ล้านคนที่หมุนเวียนมาใช้บริการจริงในแต่ละปีบอกว่า วิธีบริหารงบประมาณแบบนี้ ทำให้ประชาชนจำนวนประมาณ 28 ล้านคนที่ไม่ได้ใช้บริการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลรัฐ สูญเงินค่ารายหัวที่รัฐบาลอนุมัติให้ปีละ 3,000 กว่าบาท เพราะ สปสช.ไม่ส่งคืนให้โครงการ แบบนี้จึงเข้าลักษณะบอกว่าให้แต่จริงๆ แล้วไม่ให้ สร้างความหวัง แล้วก็ไม่เป็นไปตามที่หวังเป็นโครงการ บัลลังก์เมฆ 

ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2545 ที่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลยอมให้ สปสช.บริหารงบประมาณแบบสร้างบัลลังก์เมฆมาตลอด บอกกับประชาชน 28 ล้านคนว่ามีค่ารายหัวแต่ละปีแต่ไม่เคยได้รับเงินแท้จริง ก็ในเมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่ทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรกนั่นคือ สปสช. ที่เสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อรัฐบาลนั้น กลับมาใช้ฐานข้อมูลจากประชาชนที่ใช้บริการจริงๆ มากกว่าข้อมูลลวงๆ ที่ทำอยู่ทุกวันนี้

เป้าหมายของ สปสช.คือการให้บริการประชาชนประมาณ 20 ล้านคนที่หมุนเวียนใช้บริการรักษาพยาบาลแบบไม่มีค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ สิ่งที่ สปสช.ควรทำคือให้ประชาชนที่ต้องการใช้บริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการลงทะเบียนในฐานะผู้มีคุณสมบัติในการรับบริการรักษาพยาบาลแบบไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ได้หมายความว่า ถ้าใครไม่ลงทะเบียนจะเสียสิทธินี้ แต่ต้องเปิดให้สามารถลงทะเบียนได้ตลอดปี หรือปีละ 2 - 3 ครั้ง ผู้ป่วยที่ไม่ได้ลงทะเบียน สามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ตลอดเวลาเพื่อขอรับบริการแบบไม่มีค่าใช้จ่ายเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ต้องใช้วิธีเกลี่ยค่าบริการรายหัวจากผู้ไม่ใช้บริการมาให้ผู้ใช้บริการทั้งหมดจากปีละ 3,600 บาทต่อหัวของประชาชน 48 ล้านคน ก็กลายเป็น 10,000 กว่าบาทต่อหัวโดยประมาณของประชาชน 20 ล้านคน

นอกจากนั้น การคำนวณค่ารายหัวก็ต้องปรับเปลี่ยน ไม่ใช่ดูเฉพาะภาคประชาชนผู้ใช้บริการฝ่ายเดียว แต่ต้องดูภาคโรงพยาบาลรัฐที่เป็นผู้ให้บริการด้วยเพราะค่าใช้จ่ายในการให้บริการนั้นเพิ่มขึ้นสูงและรวดเร็วมาก ไม่ว่าค่ายา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ยิ่งการแพทย์ก้าวหน้าใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการให้บริการก็เพิ่มสูงขึ้น โรงพยาบาลในฐานะผู้ให้บริการนั้นต้องปรับปรุงการให้บริการที่ดีมีประสิทธิภาพดีขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่เคยให้บริการอย่างไรในอดีตก็ทำแบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลงปรับปรุงมาตรา 55 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถึงกับกำหนดว่า... รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง.... เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่ให้บริการแบบอนาถา ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

เอางบประมาณจากบัลลังก์เมฆ ที่ไม่ได้ให้จริงกับประชาชน 28 ล้านคน มาเพิ่มให้ประชาชน 20 ล้านคน พร้อมทั้งเกื้อหนุนโรงพยาบาลรัฐที่เป็นผู้ให้บริการได้ให้บริการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็น บัลลังก์ทอง ที่แท้จริงทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการในระบบสุขภาพภาครัฐ

โดย... ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร