โควิด -19 ความเสี่ยง ‘ศก.โลก’ ความท้าทายบริหาร ‘ศก.กิจไทย’

โควิด -19 ความเสี่ยง ‘ศก.โลก’  ความท้าทายบริหาร ‘ศก.กิจไทย’

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและกลายเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ข้อมูล ณ วันที่ 13 มี.ค.2562 มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกมากกว่า 1.2 แสนราย องค์การอนามัยโลก หรือ WHOประกาศยกระดับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เป็น“การระบาดใหญ่”(Pandemic)พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเชื้อในอย่างน้อย 110 ประเทศทั่วโลก

การแพร่ระบาดครั้งนี้แม้ความรุนแรงของโรคจะไม่มากหากดูในแง่ของอัตราผู้เสียชีวิตที่ประมาณ 2% แต่การที่การแพร่ระบาดที่เป็นไวรัสที่ติดง่ายและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทำให้โลกอยู่ภายใต้ภาวะของความหวาดกลัวความเชื่อมั่นของประชากรโลกอยู่ในภาวะตกต่ำยิ่งมีการแพร่ระบาดในประเทศเศรษฐกิจสำคัญนอกเหนือจากประเทศจีนที่สถานการณ์ดีขึ้นอย่างอิตาลี สหรัฐ เกาหลีใต้ ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไม่สดใส

ล่าสุดไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมาร์กิตคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 1.7% ในปีนี้ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.พ.ที่ระดับ 2.5% ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสถดถอย

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการครม.เศรษฐกิจบอกว่าผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจส่งผลในวงกว้าง ในระยะแรกผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจไทยอยู่ในวงจำกัดเฉพาะการท่องเที่ยว แต่เมื่อการแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานมากขึ้นผลกระทบจะเกิดขึ้นทั้งในภาคส่วนอื่นๆทั้งภาคการบริการ และภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากซับพลายเชนจากการปิดเมือง (Loockdown) รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและโลจิสติกส์ก็จะได้รับผลกระทบด้วย

สอดคล้องกับรายงานของกระทรวงการคลังที่เสนอให้ ครม.รับทราบถึงความจำเป็นในการเสนอมาตรการดูแลเศรษฐกิจว่า“...ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่าโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อการขาดสภาพคล่องและกระทบต่อการจ้างงาน ขณะที่การชะงักของการผลิตของจีนและประเทศอื่นๆส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้า รวมถึงการส่งออกของประเทศไทย”

ในสถานการณ์เช่นนี้โควิด-19 จึงกระทบกับเศรษฐกิจไทยในวงกว้างหลายภาคส่วน กว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงแรกและมีความเป็นไปได้ที่ต้องเตรียมรับมือที่จะใช้ระยะเวลานาน ซึ่งจากมุมมองของ ครม.เศรษฐกิจเริ่มให้น้ำหนักระยะเวลาการแพร่ระบาดของโลกจะสิ้นสุดหลังการแพร่ระบาด 6 เดือน - 1 ปีก่อนที่จะเข้าสู่การฟื้นฟูและเยียวยา

มุมมองนี้สอดคล้องกับผู้บริหารรายใหญ่หลายองค์กรที่มองสถานการณ์กรณีเลวร้ายว่าการแพร่ระบาดของโรคจะกินเวลาประมาณ 1 ปีก่อนที่จะคลี่คลาย

ในช่วงที่โลกมีความเสี่ยง ประเทศได้รับผลกระทบและกำลังจะเผชิญกับวิกฤติที่มากขึ้นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน และแวดวงธุรกิจถือว่ามีความสำคัญและการจะสร้างความเชื่อมั่นได้ในขั้นแรกก็คือการสื่อสารที่ชัดเจนสร้างความเป็นเอกภาพของการสื่อสาร และการแก้ปัญหาต่างๆในทิศทางเดียวกัน ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้มาตรการต่างๆที่มุ่งออกมาพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้