ข้อเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจรับมือ COVID-19

ข้อเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจรับมือ COVID-19

ข้อเสนอมาตรการที่รัฐควรทำ !

เป็นที่แน่ชัดว่าไวรัส COVID-19 ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง เพื่อรับมือการถดถอยทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจำต้องออกมาตรการด้านต่างๆ

นอกจากมาตรการเฉพาะหน้าด้านสาธารณสุข เช่น จัดหาอุปกรณ์สุขอนามัยทั้งสำหรับแพทย์และประชาชนให้เพียงพอ ในความเห็นผู้เขียน ผู้เชียนมีข้อเสนอว่า วิกฤตไวรัสคราวนี้ รัฐควรใช้งบประมาณลงทุนในเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อการแก้ปัญหาไวรัสในระยะสั้น และต่อประเทศในระยาว ที่สำคัญคือ คุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณ อย่างน้อยมากกว่าการแจกเงินอย่างที่ตอนแรกรัฐบาลคิดจะทำ

ตัวอย่างข้อเสนอมาตรการที่รัฐควรทำ

ยกระดับด่านตรวจคนเข้าเมือง /ตรวจสัมภาระ /คัดกรองสุขภาพ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ปกติคนใช้บริการมาก รอคิวนาน หรือสนามบินเชียงใหม่ที่ต่อคิวยาวตั้งแต่นอกสนามบิน รัฐบาลควรใช้วิกฤตนี้ ปรับปรุงให้มีช่องตรวจเพียงพอ รวดเร็ว ลดความคับคั่งของผู้โดยสาร ลดโอกาสการแพร่เชื้อโรค สนับสนุนคนและงบประมาณเพื่อคัดกรองสุขภาพ เมื่อพ้นวิกฤตไป สิ่งเหล่านี้ยังมีประโยชน์ในระยะยาว ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว

ยกระดับธุรกิจ อุตสาหกรรมด้านสุขอนามัยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ส่งเสริมงบด้านวิจัยจนถึงระดับผลิตสินค้าได้ สนับสนุนเงินวิจัยให้มหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตสินค้าสุขอนามัยที่ได้คุณภาพ เช่น ผ้าหรือวัสดุสำหรับผลิตหน้ากาก ชุดอนามัย เพราะพ้น COVID-19 ไป ยังมี PM2.5 รออยู่ เราได้ใช้แน่นอน

รัฐอาจใช้เงินส่งเสริมพัฒนาชุดตรวจไวรัส ที่วันนี้สิงคโปร์ก็พึ่งประกาศว่าชุดตรวจใหม่ที่เค้าพัฒนา รู้ผลไวขึ้น ถ้ารัฐเอาจริง มีงบให้อาจารย์แพทย์ นักวิจัยไทย ระดมทรัพยากรทั้งรัฐและเอกชนมาช่วยกัน ไทยเราทำได้แน่นอน

นอกจากนี้ยังอาจใช้เงินไปพัฒนาสมุนไพรต่างๆ ให้มีงานวิจัยรองรับ ให้การผลิตได้มาตรฐาน สนับสนุนคู่กับยาแผนปัจจุบันด้วย

ยกระดับ รพ.ขนาดกลางและเล็กในท้องถิ่น ให้รองรับการดูแล คัดกรองผู้ป่วยได้ดีขึ้น มีบุคลากร อุปกรณ์ งบประมาณเพียงพอต่อการรับมือขั้นต้น มีงบให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ความรู้ประชาชนเชิงรุก สอนประชาชนดูแลสุขภาพตัวเอง ลดปริมาณผู้ป่วยที่ต้องไปโรงพยาบาล ลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรค เมื่อพ้นวิกฤตไป โรงพยาบาลและทรัพยากรเหล่านี้ยังมีประโยชน์ต่อชุมชน

ยกระดับมาตรฐานอาหารริมทางและตลาดสดทั่วประเทศ ให้สะอาด ปลอดภัย ทั้งสถานที่ (ตลาดสด พื้นถนน ฟุตบาท) อุปกรณ์ต่างๆ (แผงตลาด อุปกรณ์ประกอบอาหาร รถเข็น) ตลอดจนสุขอนามัยผู้ให้บริการ (ให้สวมใส่หน้ากาก หมวก ถุงมือ ป้องกันการแพร่เชื้อโรคทุกประเภท)

ช่วงเวลานี้เหมาะสมที่จะทำ เพราะด้วยเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าลดลง การปรับปรุงไม่กระทบบริการมาก หากไปทำช่วงค้าขายดี พ่อค้าแม่ค้าอาจบ่น การทำตอนนี้ผู้ประกอบการยังพร้อมให้ความร่วมมือเพราะกลัวตายเหมือนกัน ขณะเดียวกันถ้ารัฐทำได้ดี มีมาตรฐานจริง ประชาชนก็พร้อมสนับสนุนตลาดหรือพื้นที่ที่ผ่านการรับรอง ช่วยจูงใจผู้ประกอบการทางอ้อมด้วย

ผ่านวิกฤตไป เราจะได้ตลาดสดและสตรีทฟู้ดที่มีคุณภาพกว่าเดิม ลงทุนระบบการเรียนออนไลน์อย่างจริงจัง สร้างแพลทฟอร์มที่มีคุณภาพ ในสถานการณ์ไวรัส การเรียนออนไลน์ช่วยลดความเสี่ยงติดโรค ผ่านพ้นวิกฤตไปเรายังได้ระบบการเรียนออนไลน์ที่มีคุณภาพ ลดปัญหาความไม่เท่าเทียมของคุณภาพการศึกษา การขาดแคลนบุคลากรครูที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในบางพื้นที่ของประเทศ

ระบบการเรียนออนไลน์ที่ดี ยังต่อยอดไปสู่ระบบการพัฒนาทักษะแรงงาน ที่แรงงานในอนาคตต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

ส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีสุขภาพ ทั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อ ระบบ IOT ระบบประมวลข้อมูล ช่วยให้ประชาชนรู้สถานะสุขภาพตัวเองดีขึ้น ไม่ต้องไปโรงพยาบาลถ้าไม่จำเป็น รู้วิธีการดูแลตัวเอง ย่านไหนอันตราย คับคั่ง ควรลดการสัญจร ระบบข้อมูลที่ดีช่วยให้ประชาชนดูแลตัวเองดีขึ้น ขณะเดียวกันรัฐก็มีข้อมูลในการออกแบบนโยบายได้ตรงจุด

การลงทุนในระบบเหล่านี้ เป็นการนำเทคโนโลยีมาดูแลผู้คน เป็นพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะที่รัฐพยายามจะทำ ทั้งช่วยรองรับสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย

โดยสรุปคือ คงเป็นการดีกว่า หากรัฐบาลใช้เงินคุ้มค่า ช่วยแก้ปัญหาไวรัสได้ทั้งในระยะสั้น และเกิดประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวครับ