ส่องสัญญาของมหาเศรษฐี (1)

ส่องสัญญาของมหาเศรษฐี (1)

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว คอลัมน์นี้อ้างถึงองค์กรกลางตั้งขึ้นโดย “บิล เกตส์” และ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เพื่อรับคำมั่นสัญญาของมหาเศรษฐี

ที่แสดงความประสงค์จะบริจาคอย่างต่ำครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น การบริจาคจะทำในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือเมื่อถึงแก่กรรมก็ได้ ในการให้คำมั่นสัญญามีข้อกำหนดว่าผู้ให้ต้องเขียนเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เพื่อให้ผู้สนใจศึกษา หลังจากก่อตั้งมาใกล้ครบ 10 ปี มีผู้เขียนคำมั่นสัญญาแล้ว 207 ฉบับ

ย้อนไปในตอนตั้งองค์กร “บิล เกตส์” อายุ 55 ปีและมีสถานะเป็นมหาเศรษฐีลำดับ 1 ของโลก ส่วน “วอร์เรน บัฟเฟตต์” อายุ 80 ปีและมีสถานะเป็นมหาเศรษฐีลำดับ 2 ของโลก ทั้งคู่ได้เขียนคำมั่นสัญญาให้กับองค์กรซึ่งเปิดให้เราเข้าไปอ่านได้ที่เว็บไซต์ www.givingpledge.org ขอนำข้อมูลสำคัญอันดับต้นๆ ในบางคำมั่นสัญญามาปัน เริ่มด้วยของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้มีอายุมากที่สุดในตอนนั้นและสัญญาว่าจะบริจาคเป็นสัดส่วนสูงที่สุดของทรัพย์สินหลายหมื่นล้านดอลลาร์

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เท้าความว่าย้อนไปเมื่อปี 2549 เขาได้แสดงความจำนงว่าจะค่อยๆ บริจาคหุ้นทั้งหมดที่เขามีอยู่ในบริษัทเบิร์กไชร์ ฮะธะเวย์ให้แก่มูลนิธิเพื่อการกุศล (บริษัทนี้เป็นองค์กรที่ครอบครองทรัพย์สินเกือบทั้งหมดของเขาไว้) เขามีความสุขที่สุดที่ได้ตัดสินใจทำเช่นนั้น ในโอกาสที่เขาและบิล เกตส์กับภรรยาร่วมกันเชิญชวนให้เศรษฐีอเมริกันนับร้อยร่วมให้คำมั่นสัญญาว่าจะสละทรัพย์สินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเพื่อการกุศล จึงเป็นการสมควรที่เขาจะกล่าวถึงความจำนงและอธิบายความในใจอีกครั้ง

ในเบื้องแรก เขาสัญญาว่าจะบริจาคมากกว่า 99% ของทรัพย์สินเพื่อการกุศล ซึ่งอาจทำในระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่ หรือในวันที่เขาถึงแก่กรรมก็ได้ การบริจาคนี้มีค่าสูงมากหากวัดเป็นดอลลาร์ แต่ไม่มากหากเทียบกับหลายๆ คนที่ช่วยเหลือผู้อื่นทุกวัน ผู้คนนับล้านบริจาคให้วัด โรงเรียน และองค์กรอื่นอย่างสม่ำเสมอ อันเป็นการสละประโยชน์ที่ครอบครัวของตนจะได้รับ เช่นจากการไปดูภาพยนตร์ จากการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน และจากการบันเทิงอื่นๆ แต่เขาและครอบครัวไม่ต้องสละอะไรที่จำเป็น หรือปรารถนาแม้แต่น้อยในการบริจาค 99% ของทรัพย์สิน (ในตอนนั้นทรัพย์สิน 1% ที่เขาจะเก็บไว้มีค่าคิดเป็นเงินไทยได้นับหมื่นล้านบาท)

ยิ่งกว่านั้น เขามิได้บริจาคสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย นั่นคือเวลา ซึ่งเขามองว่ามีค่ามากกว่าเงินและคนจำนวนมากบริจาคกันอย่างแพร่หลาย เขาภูมิใจที่ลูก 3 คนและน้องสาวของเขาต่างร่วมบริจาคเวลาด้วย

สิ่งที่เขาทำคือบริจาคหุ้นซึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นเงินจะใช้ซื้อหาทรัพยากรได้จำนวนมากสำหรับช่วยผู้โชคไม่ดีในชีวิต ในตอนนั้นเขาได้บริจาคไปแล้ว 20% ของหุ้นที่มีอยู่และจะบริจาคเพิ่มอีกปีละ 4% จนกระทั่งหมดในเวลาไม่เกิน 10 ปีหลังวันที่เขาถึงแก่กรรม โดยจะไม่มีการเก็บรักษาไว้ในรูปของกองทุนถาวร

การบริจาคของเขาจะไม่มีผลกระทบต่อชีวิตเขาและทายาทซึ่งได้รับทรัพย์สินไปจำนวนมากแล้วและจะได้รับเพิ่มอีก สำหรับเขา วัตถุบางอย่างทำให้เขามีความสุข เช่น เครื่องบินส่วนตัว แต่บางอย่างไม่เป็นเช่นนั้น รวมทั้งการมีบ้านหลายหลัง (เขายังอาศัยอยู่ในบ้านหลังแรกที่เขาซื้อเมื่อครั้งยังไม่เป็นมหาเศรษฐี) เขามองว่าผู้สะสมสิ่งต่างๆ ไว้มากมักลงเอยด้วยการเป็นทาสของมัน สำหรับเขา สมบัติที่มีค่าสูงสุดนอกจากสุขภาพที่ดีคือการมีเพื่อน

ปัจจัยที่ทำให้เขาร่ำรวยมาจากความโชคดีหลายอย่างรวมทั้งการเกิดเป็นชายผิวขาวในอเมริกาซึ่งมีระบบที่เอื้อให้เขาสร้างความร่ำรวย เขาและครอบครัวไม่รู้สึกว่าผิด หากรู้สึกว่าเป็นหนี้ในความโชคดีมากกว่าและมองว่าถ้าจะใช้ทรัพย์สินของตนเกิน 1% ความสุขกายสบายใจก็จะไม่เพิ่มขึ้น ตรงข้ามทรัพย์สิน 99% จะมีผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพและสวัสดิการของคนจำนวนมาก

ความตระหนักในความจริงข้อนี้ทำให้เขาตัดสินใจเก็บทรัพย์สินไว้เฉพาะส่วนที่มองว่าจำเป็นสำหรับครอบครัวและตัวเองเท่านั้น และบริจาคส่วนที่เหลือเพื่อสนองความจำเป็นของสังคม