“Facebook”เจ้าสังเวียนดีสรัปชั่น [6]

“Facebook”เจ้าสังเวียนดีสรัปชั่น [6]

โซเชียลมีเดียเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อ “Friendster” เปิดตัวขึ้นในปี 2002 ตามด้วยชุมชนออนไลน์ชั้นนำอย่าง LinkedIn และ Myspace

จนกระทั่งในปี 2004 โซเชียลมีเดียดาวรุ่งชื่อ “เฟซบุ๊ค (Facebook)” ได้ก่อตัวขึ้นในหอพักของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดโดย “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)” เฟซบุ๊คได้เปิดช่องทางใหม่ในการพูดคุยติดตามเรื่องราวและสอบถามข่าวคราวระหว่างเพื่อนฝูงและคนรู้จัก จนเกิดเป็นสังคมออนไลน์ที่ดีสรัปการสื่อสารและการเสพข่าวในชีวิตประจำวันของผู้คนตลอดไป

ปัจจุบันมีผู้ใช้เฟซบุ๊คกว่า 2,500 ล้านรายต่อเดือน ช่วยให้เฟซบุ๊คและเว็บไซต์ในเครือทำรายได้รวมกว่า 70,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 โดยคาดว่ารายได้จำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์มาจากการขายสื่อโฆษณาของแอพยอดนิยม “อินสตาแกรม (Instragram)” ที่เฟซบุ๊คเข้าซื้อกิจการเมื่อปี 2012 ด้วยมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยในปี 2014 เฟซบุ๊คยังได้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ “Whatsapp” แมสเสจจิ้งแอพชื่อดังด้วยมูลค่าสูงถึง 19,000 ล้านดอลลาร์ ช่วยให้เฟซบุ๊คก้าวขึ้นเป็นโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของโลกที่มีมูลค่าตลาดสูงกว่า 520,000 ล้านดอลลาร์ในต้นเดือนมีนาคม 2020

 

เชื่อมผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน

ด้วยเป้าหมายที่จะเชื่อม (Connect) ผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน เฟซบุ๊คจึงเร่งเปิดบริการใหม่ให้สมาชิกและเริ่มเห็นความสำเร็จเมื่อเฟซบุ๊คนำ “News Feed” มาใช้บนเพจในปี 2006 ทำให้เพื่อนฝูงได้เห็นและรับทราบความเป็นไปของกันและกัน จนเปิดมิติใหม่ให้กับโซเชียลมีเดียในการเป็นแหล่งข่าวสารของผู้คน 

ปรากฏการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อเฟซบุ๊คเปิดใช้ปุ่ม “Like” ในปี 2009 จนเปลี่ยนความรู้สึกและพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียไปตลอดกาล เพราะนอกจากปุ่ม Like จะหมายถึงความชอบแล้ว ยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของโพสต์ คอมเมนท์ รูปภาพ หรือวิดีโอของผู้โพสต์ ตลอดจนอินฟูลเอนเซอร์หรือไอดอล รวมถึงแบรนด์ต่างๆ ซึ่งช่วยเสริม Engagement และสร้างโอกาสในการโฆษณาและการเข้าถึงของแบรนด์จากลูกค้า 

ความสำเร็จอีกครั้งเกิดขึ้นจากการที่สามารถใช้ Targeting Ads ส่งสื่อโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เรียกว่ากลุ่ม “Custom Audiences” และ “Lookalike Audiences” ผ่าน “Ad Manager” ในแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวก โดยเฟซบุ๊คได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง อาทิ Marketplace, Facebook Live, Facebook Watch และ Lip Sync Live ตลอดจนการเปิดตัว “fb.gg” เว็บสตรีมมิ่งสำหรับนักเล่นเกมส์ และการพัฒนาเครื่อง VR จาก Oculus ที่เฟซบุ๊คซื้อกิจการด้วยมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2014

ขณะเดียวกันอินสตาแกรมได้สร้างบริการใหม่เช่น Instagram Stories ซึ่งเป็นวิดีโอสั้นคล้าย SnapChat และ Instagram Direct สำหรับแมสเสจจิ้งและ IGTV โดยประมาณว่าในทุกนาทีมีภาพกว่า 55,000 ภาพและ 277,000 สตอรี่ถูกโพสต์ในอินสตาแกรม

 

นวัตกรรมนำทาง

เฟซบุ๊คได้ชื่อว่าเป็นผู้นำแห่งนวัตกรรมดิจิทัลไม่น้อยหน้าค่ายดิจิทัลอื่น เห็นได้จากการพัฒนาอัลกอริธึมสำคัญด้าน AI ที่ใช้อยู่ในเฟซบุ๊ค และการพัฒนาแพลตฟอร์ม “Cassandra” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการจัดการ Big Data ที่พัฒนาต่อยอดมาจากงานวิจัยของอเมซอนและกูเกิลในปี 2008 จนเกิดเป็นซอฟต์แวร์ Open Source ที่เป็นที่รู้จัก และถูกใช้ในบริษัทผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งรายใหญ่อย่าง Rackspace รวมถึงบริษัทชั้นนำอย่าง Netflix, Apple และ Uber

ตลอดจนการพัฒนา Open Source Library ที่ชื่อ “React” ในปี 2015 เพื่อใช้กับการพัฒนา Native App สำหรับแอนดรอยด์และ iOS โดย Airbnb และ Walmart ได้นำมาใช้ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม AI ที่ชื่อ “Torch” เพื่อเป็นซอฟต์แวร์ Open Source จนถูกพัฒนาต่อมาเป็น “PyTorch” ซึ่งเป็น AI Framework ยอดนิยมเช่นเดียวกับ TensorFlow ของกูเกิล

 

สกุลเงินใหม่ในกระเป๋าเงินดิจิทัล

เมื่อเดือนมิ.ย. 2019 เฟซบุ๊คได้ประกาศแผนการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลใหม่ที่ชื่อ “ลีบรา (Libra)”ซึ่งลีบราถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยเฟซบุ๊ค และคิดว่าจะมีเสถียรภาพมากกว่า Cryptocurrency อื่นอย่างบิทคอยน์ (Bitcoin) ในเวลาเดียวกันเฟซบุ๊คยังเปิดตัวแอพ “คาลีบรา (Calibra)” ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับใช้จ่ายเงินลีบราด้วย โดยความสำเร็จของ Libra และ Calibra จะช่วยเปิดเส้นทางใหม่ของการให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มสมาชิกของเฟซบุ๊คที่มีกว่าหนึ่งในสามของประชากรโลก

 

ล่าสุดภายหลังการตอบข้อซักถามต่อสมาชิกวุฒิสภา เฟซบุ๊คได้ปรับแผนและกลไกของ Libra ให้รองรับเงินที่ Libra Association กำหนดขึ้นเอง และสกุลเงินของรัฐบาลที่มีความเสถียรภาพอย่างเช่น เงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร พร้อมทั้งเลื่อนแผนการเปิดใช้งาน Calibra ออกไปจนถึงเดือนตุลาคมปีนี้ โดยที่ Calibra จะรองรับทั้งสกุลเงิน Libra และสกุลเงินอื่นด้วยเช่นกัน และเปิดใช้เฉพาะในประเทศที่ใช้สกุลเงินที่รองรับ Libra ก่อน เช่นใช้ในสหรัฐหรือในยุโรป

 

ความสำเร็จอยู่คู่กับความรับผิดชอบ

ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความรู้สึกนึกคิดและการตัดสินใจของผู้คน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่นโยบายด้านการจัดการกับข้อมูล และวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจของโซเชียลมีเดียระดับโลกจะส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจของทุกพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง จนเกิดเป็นความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจที่สร้างความผาสุกให้กับชุมชน สร้างความโปร่งใสทางธุรกิจ และส่งเสริมให้ผู้คนเคารพสิทธิส่วนบุคคลและรักษากฎหมาย