“กล้า” “ก้าวไกล” อย่าง “เสมอภาค” หรือไม่?

 “กล้า” “ก้าวไกล” อย่าง “เสมอภาค” หรือไม่?

3 พรรคการเมืองแจ้งชื่อเกิดใหม่ในเวลาไม่ถึงเดือน เป็นบรรยากาศการเมืองระบบพรรคแบบไทยๆ ที่มีมานานจนเป็นลักษณะประจำ คือมากมายหลายพรรค

ส่วนมากเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยที่ทำไปทำมาก็วิ่งเข้าหาพรรคใหญ่ เป็นพรรคเฉพาะกิจแต่แรกตั้งเสียก็มาก น้อยนักที่จะอยู่ยั่งยืนมีโอกาสพัฒนาจนเป็นพรรคใหญ่สร้างความเป็นสถาบันทางการเมืองขึ้นมาได้

ที่กล่าวไม่ใช่เหตุจะไปหมิ่นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองของคนไทยว่าไม่มีน้ำยา แต่สภาพการเมืองของไทยตลอดมาทำให้เป็นเช่นนั้นเอง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ(รธน.)ปี 2560 ที่ออกแบบมาให้มีการตั้งพรรคมากมาย จนมีพรรคการเมือง 85 พรรคก่อนเลือกตั้ง ผลก็คือมีพรรคได้รับเลือกตั้งเข้าสภาถึง 25 พรรค มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

พรรคการเมืองสำคัญไฉนในท่ามกลาง แฟลช ม็อบที่เมินและปฏิเสธการเมืองระบบพรรคมีรัฐสภาภายใต้ รธน.ปี60 อย่างมีจำนวนและความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่รัฐบาลสอบผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาไปแล้ว สอดรับกับที่ได้มีการวิพากษ์รธน.ฉบับนี้จากหลายฝ่ายมาตั้งแต่ร่างและก่อนจะใช้จริงแล้วว่าจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต และอนาคตนั้นก็ได้มาถึงแล้ว

สำหรับ 3 พรรคเกิดใหม่ ที่น่าสังเกตก็คือแทนที่จะเป็นพรรคเล็กวิ่งเข้าหาพรรคใหญ่ๆ ทางเดียว ครั้งนี้กลายเป็นว่ามี 2 พรรค(ที่ยัง)เล็กที่แตกออกมาจากพรรคใหญ่ ส่วนอีกพรรคที่น่าจะเข้าล็อคว่าอยู่ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคนเดียวหรือรวมรองหัวหน้าพรรคด้วยอีกคน เมื่อการเมืองถึงขั้นยุบพรรค ก็น่าจะหมดสภาพ แต่กลายเป็นว่ายังส่งไม้ต่อได้อย่างสวยงาม นับเป็นอีกครั้งหนึ่งจากที่เคยมีมาแล้วในการยุบพรรค เป็นการยืนยันว่าในกติการัฐสภาประชาธิปไตยที่แม้จะถูกติว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ (อย่างที่เคยเป็นมา) หรือ ระบอบเผด็จการครึ่งใบ (ภายใต้ รธน.ปี 60 นี้) สังคมไทยมีผู้พร้อมและยินดีจะตั้งพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจด้วยเสมอ

“กล้า ” เป็นได้ทั้งคำกริยาในความหมายที่ว่า ไม่กลัว ไม่ครั่นคร้าม แสดงถึงได้ทั้งภาวะจิตใจและการกระทำ และคำวิเศษณ์ เช่น เหล็กกล้า หมายความว่า แข็ง ดูจากบริบทการเกิดของพรรคนี้ น่าจะหมายถึงศักราชใหม่ที่คนในพรรคนี้จะใจกล้า กล้าคิดกล้าทำ ต่างจากสภาพก่อนหน้าที่ขยับกึกติดกักอยู่เรื่อย โครงสร้างพรรคบริหารพรรคว่าจะเปลี่ยนแต่ก็ไม่ผ่าน ว่าจะไม่เอารัฐบาลที่มีผู้นำทหาร แต่ท้ายสุดก็เอา แสดงว่ายังไม่กล้าไม่เข้มแข็งเด็ดขาดพอ

แม้คำว่ากล้าเป็นคำนามได้ โดยอนุโลม หมายถึง พืชที่เพาะไว้สำหรับย้ายไปปลูกที่อื่น แต่ในบริบททางการเมือง ไม่น่าจะใช้ในความหมายนี้

“ก้าวไกล” บอกกริยายกเท้าย่างไปชัดเจน มีคำวิเศษณ์กำกับว่า ไกล ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ “ ก้าวหน้า ” ที่เปลี่ยนแปลงของเดิมให้ดีขึ้น ชื่อนี้ส่งความหมายชัดแจ้งว่าจะก้าวเดินทางไปไกล ทำให้นึกถึงการออกเดินของสองนักการเมืองหนุ่มในฝรั่งเศสและเมืองจีนขึ้นมาติดหมัดทีเดียว

นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เริ่มต้นเข้ากระบวนการเลือกตั้งด้วยขบวนการทางการเมืองชื่อ “En Marche” แปลว่า ออกเดิน ซึ่งในที่สุดก็ใช้เป็นชื่อพรรคการเมืองของเขาในเวลาต่อมา

สำหรับผู้เขียนที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ก่อนจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ชื่อนี้ทำให้นึกถึงการเดินเท้าทางไกล (The Long March) อันลือลั่น ช่วง ค.ศ.1934-36 ของแม่ทัพหนุ่มวัย 41 ปี เหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งในที่สุดส่งผลให้ผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนอื่น ๆสนับสนุนท่านแม่ทัพให้ได้ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในเวลาต่อมา

 “เสมอภาค” สื่อความหมายถึง ความเท่าเทียม เป็นคู่ตรงข้ามคำว่า “เหลื่อมล้ำ” ได้เหมาะเจาะ เป็นได้ทั้งคำนามที่เป็นอุดมการณ์นามธรรมและคำวิเศษณ์ที่จับต้องได้ เช่นโอกาสเสมอภาค เป็นคำที่นามธรรมน้อยที่สุดโดยเปรียบเทียบในบรรดาคำหลักๆในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่น อิสรภาพ เสรีภาพ หรือ ภราดรภาพ สตรีผู้ก่อตั้งพรรคกำกับความหมายไว้ด้วยว่าหมายถึงความเท่าเทียมกันทางเพศด้วย

  อย่างไม่ได้ตั้งใจหรือนัดหมายกันไว้ ชื่อของทั้ง 3 พรรคเปิดศักราชใหม่ด้วยการอำลาชื่อประเภทใช้คำนามสื่อความหมายนามธรรมกว้างๆ เช่น ชาติ ประชาชน ธรรม รัฐ เสรี เอกภาพ ประชาชาติ ที่เริ่มปรากฎมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 รวมทั้งประเภทระบุลัทธิการปกครอง เช่น ประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หรือเน้นกลุ่มอาชีพ เช่น เกษตรกร กรรมกร ชาวนา โดยเฉพาะคำว่า ไทยหรือ ไทซึ่งเป็นที่นิยมมากในช่วงสิบยี่สิบปีที่ผ่านมา

ทั้ง 3 ชื่อเป็นตัวอย่างที่เห็นได้เร็วๆ แบบ แฟลชว่าแม้แต่ชื่อพรรค ก็เปลี่ยนผ่านจากเดิมแล้ว (ชื่อ)พรรคบอกความหมายนโยบายจุดยืนด้วยการแสดงกริยาอาการกระทำ หากแสดงอุดมการณ์ก็พอจับต้องได้ อีกทั้งมีมิติทางเพศด้วย ไม่ใช่แสดงความหมายเพียงเป็นกลุ่มเป็นก้อนของคนที่รวมตัวกันได้ หรือแสดงอุดมการณ์กว้างๆ จับต้องไม่ค่อยได้ และไร้มิติทางเพศอย่างที่เคยเป็นมา

ในบรรยากาศใหม่ เป็นไทแก่ตัว ที่ทั้งสามพรรคต้องการจะสื่อถึงพรรคตนเอง ยังต้องรอดูต่อไปว่าที่ตั้งชื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงให้โดนใจคนมาก ๆ อย่างนี้ จะอยากได้พรรคได้พวกมาทำอะไร ตั้งใจจะเอามาเป็นเพียงตัวเลขสมาชิกและลงคะแนนเสียงให้ โดยพรรคก็ยังเป็นของคนคนเดียว หรือว่าเป็นของกลุ่มคนเล็ก ๆ อย่างที่เราเห็นจนชิน หรือว่าตั้งใจจะเปิดโครงสร้างพรรคให้ประชาชนคนหมู่มากมาร่วมเป็นเจ้าของพรรคด้วยทั้งสามพรรคถ้าต้องการจะเปิดศักราชใหม่ทางการเมือง ก็ต้องแสดงจุดเปลี่ยนในโครงสร้างและการบริหารพรรค ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์กับคนส่วนมากในมิติใหม่ๆ ด้วย

แทนที่จะรอแค่การลงคะแนนเสียงให้พรรคที่โดนใจในกติกาที่ถูกใจ วันนี้ แฟลช ม็อบทั้งหลายและกอง(ไม่)เชียร์ จะไม่สนใจเรียนรู้ หาคำตอบและมองหาการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนบ้างหรือกับพรรคการเมือง(ใหม่ๆ)ที่โดนใจ.