องค์กรคาร์บอนต่ำ...ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

องค์กรคาร์บอนต่ำ...ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันมีความตื่นตัวในการขับเคลื่อนธุรกิจในทุกรูปแบบเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กร “คาร์บอนต่ำ” เพื่อร่วมมือกับประชาคมโลกในการปรับสมดุลธรรมชาติ

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน จากการบริโภคพลังงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่คุ้มค่า ตลอดจนการขาดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แนวทางปฏิบัติเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่เดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงอยู่ที่การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ไม่ให้เพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมาะสมกับการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซจากการผลิต ตามแนวทางการผลิตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการบริหารจัดการที่ไม่ก่อให้เกิดการสูญเปล่าและลดการสูญเสีย

สหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ในการปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ ซึ่งมีภาคเอกชนได้นำมาเป็นแนวทางในการดำเนินการสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นรูปธรรม อย่างซีพีเอฟ ที่ได้บริหารจัดการทรัพยากรตลอดห่วงโซ่การผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุดตามแนวทาง Eco-Efficiency ด้วยการให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ทั้งในกระบวนการผลิตและจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะด้านพลังงาน อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ โครงการใช้พลังงานจากชีวมวล โครงการโซล่าร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน 25 แห่ง โครงการนวัตกรรมอาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติแทนพลาสติก คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ของทั้งองค์กรได้เฉลี่ยปีละ 522,000 ตัน

การร่วมเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ตลอดกระบวนการผลิต เป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตของธุรกิจที่ดำเนินการควบคู่กับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ยิ่งในส่วนของผลิตภัณฑ์ ต้องยอมรับว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียว นับวันจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และฉลากลดโลกร้อน ที่ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบ ไก่มีชีวิต ลูกไก่ เนื้อไก่สด รวมไปถึงอาหารสัตว์สำหรับผลิตภัณฑ์ไก่ ขณะที่ฉลากวอเตอร์ฟุตพริ้นท์จะชี้วัดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ บอกว่า ในปีนี้ บริษัทกำหนดเป้าหมายลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต 25% ภายในปี 2563 และ 30% ภายในปี 2568 ตามลำดับ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาสนับสนุนตลอดกระบวนการผลิต เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากธรรมชาติและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด โดยผลิตภัณฑ์เนื้อไก่สดและผลิตภัณฑ์อกไก่นุ่มของบริษัทฯ ได้รับการรับรองฉลาก “ฟุตพริ้นท์การขาดแคลนน้ำ” (Water Scarcity Footprint) เป็นรายแรกของประเทศไทยจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

แนวทาง “Neutral Carbon” ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมความรับผิดชอบต่อความยั่งยืน ในรูปแบบใหม่ภายใต้โครงการ เดิน-วิ่งการกุศล “Carbon Neutral Event” ด้วยการนำคาร์บอนเครดิตที่บริษัทฯสะสมในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) มาชดเชยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการใช้พลังงานไฟฟ้าในการจัดงาน การเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน การพักแรม อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งสิ่งเหลือทิ้งจากการจัดงาน ให้เท่ากับศูนย์

ความตื่นตัวในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อร่วมปรับสมดุลธรรมชาติของโลก จึงเป็นที่มาของหลากหลายมาตรการ รวมถึงการปรับปรุงและติดตั้งเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้การใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าบก และป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้คืนสู่ความสมบูรณ์ ให้สามารถช่วยดูดซับและกักเก็บมลพิษ

ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของสินค้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเรา และโลกที่เราอาศัย

โดย...

อภิชาติ เกื้อการย์