ทำนาบนหลังคนยังมีอยู่ในระบบราชการบ้านเรา

ทำนาบนหลังคนยังมีอยู่ในระบบราชการบ้านเรา

ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะที่เกิดกับบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีปัญหาขาดแคลนบุคคลากรต่อเนื่องมานาน

เรามีกฎหมายกำหนดเรื่องแรงงานขั้นต่ำค่าแรงวันละ 300 บาท จบปริญญาตรีเริ่มต้นเงินเดือน 15,000 บาท มาหลายปี แต่ยังมีผู้ที่ทำงานอัตราจ้างของราชการหลายหน่วยงานได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด รวมทั้งข้าราชการบางหน่วยงานที่ทำงานเกินชั่วโมงทำงานเพราะเหตุจากภาระงาน ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนค่าล่วงเวลา เพราะไม่เข้าระเบียบการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงค่าตอบแทนนี่เป็นจุดอ่อนของระบบราชการอย่างหนึ่ง 

การพิจารณาเบี้ยเลี้ยงและสิทธิประโยชน์จะดูตามระเบียบความใกล้ไกลเมือง การเดินทาง ความกันดาร ภัยร้าย และอะไรต่อมิอะไร แต่มองข้ามความยากลำบากที่เกิดจาการทำงานนั้นเองในขณะที่ภาคเอกชนที่อยู่ใต้กฎหมายแรงงาน จะมีความชัดเจนเรื่องสภาพการจ้าง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หรือลูกจ้างต้องทำงานล่วงเวลา ลูกจ้างสามารถเรียกร้องให้นายจ้างต้องรับผิดชอบได้ ถึงอาจฟ้องเป็นคดีแรงงานได้รัฐวิสาหกิจก็ใช้หลักเทียบเคียงภาคเอกชน โดยกำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดแต่ราชการไม่มีระเบียบนี้กลายเป็นว่าคนที่ทำบ้างไม่ทำบ้าง กับคนที่ทุ่มเททำงานเกินเวลา ไม่มีความแตกต่างทั้งๆ ที่มันเกิดจากภาระงานที่บังคับให้ต้องทำ

เคยถามผู้ชี้แจงทั้งจาก กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ที่มาชี้แจงเรื่องอัตรากำลังต่อ กมธ.สาธารณสุข สนช.ว่าทำอย่างนี้ได้อย่างไร รวมถึงลูกจ้างอัตราจ้างที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำ จบปริญญาตรี ควรได้ 15,000 บาท แต่รับเงินเดือนแค่ 10,000 หรือบางทีไม่ถึงหมื่นบาทด้วยซ้ำพวกเขาเหล่านั้นอดทนทำงานเกินภาระงานปกติ ทั้งๆที่ข้าราชการหน่วยงานอื่นเข้าทำงานและเลิกงานตามเวลา ก็ได้รับค่าจ้างเงินเดือนเท่ากัน

ได้รับคำชี้แจงเลี่ยงๆ ไปว่ากฺ็พยายามให้สิทธิประโยชน์อย่างอื่นแทนซึ่งมันเลี่ยงบาลี เพราะค่าจ้างก็ส่วนค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ก็ส่วนสิทธิประโยชน์ เป็นส่วนเพิ่มเติมจากค่าจ้างแรงงาน เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดแต่ผู้ที่ทำงานในอัตราจ้างหลายคนยอมรับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีทางเลือก ดีกว่าไม่มีงานทำ หรืออาจเพราะคาดหวังว่าสักวันจะได้บรรจุเป็นข้าราชการเต็มตัว ทำงานอัตราจ้างรอไปก่อน

บุคคลากรในระบบสาธารณสุขจำนวนไม่น้อยเช่นพยาบาล เป็นอัตราจ้างนานหลายปี ไม่ได้บรรจุเพราะไม่มีอัตราแต่พวกเธอทำงานไม่ต่างจากข้าราชการพยาบาลระบบแบบนี้ ไม่ต่างจาก ....ทำนาบนหลังคน...

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเป็นผู้สูงวัยนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของอายุ แต่จะมาพร้อมกับอาการเจ็บป่วยมากมายอันเกิดจากสภาวะสูงวัยที่อย่างไรก็ต้องเกิด นอกจากนี้ผู้สูงอายุไทยจะเป็นผู้สูงอายุที่ยากจน ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับบริการของรัฐในการดูแลสุขภาพและรักษาอาการป่วย ประคับประคองจนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิตเราต้องการบุคคลากรทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้สูงวัยที่ยากจนเหล่านี้ และดูแลพวกเขาอย่างดีเท่าที่จะทำได้ แต่ที่สำคัญคือผู้ดูแลก็ต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจที่จะให้บริการ และ/หรือบริบาล รัฐบาลต้องใส่ใจพวกเขาเหล่านี้ให้มากๆ