น่าสงสัยว่า “สตง.” มีศักยภาพแค่ไหน

น่าสงสัยว่า “สตง.” มีศักยภาพแค่ไหน

เวลาที่มีใครเอ่ยว่า...ระวัง เดี๋ยวสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) มาตรวจ จะมีปัญหา...ฟังแล้วดูเหมือนเป็นคำขู่ที่น่าเกรงกลัวอย่างยิ่ง

ทุกคนจะเงียบ ประหนึ่งว่า สตง. หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน นี้ คือที่สุดแห่งความถูกต้อง ถ้าสตง.ว่าอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น... อย่างนั้นเลยหรือ?

ผมทำงานในภาคธุรกิจเอกชนมาก่อน ผมรู้จักบริษัทสอบบัญชีระดับโลก คือ Big 5 ด้านสอบบัญชีของโลก ไม่ว่า KPMG, Price Waterhouse Cooper, Deloitte, Arthur Andersen, Earns and Young และอีก 2 - 3 บริษัท ที่ค่าสอบบัญชีแพงมหาศาล เป็นต้นทุนสำคัญของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ผมเป็นฝ่ายกฎหมายก็จริง แต่ก็ต้องอ่านงบการเงินเป็นด้วย เพราะกฎหมายกับบัญชีการเงินไปด้วยกัน ถ้าอ่านงบการเงินไม่เป็น ก็ให้ข้อสังเกตุทางกฎหมายไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมก็รู้ว่าทุกงบ ไม่ว่างบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด ทั้งงบเดี่ยว งบรวม มีจุดไหนบ้างที่ต้องลงรายละเอียดและที่สำคัญคือถ้าไม่ละเอียดพอ ก็ต้องมีรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบ ที่ต้องปรากฎข้างท้ายงบการเงินเสมอหมายเหตุประกอบงบ นี่ ถือเป็น ...It's the must... ไม่มีไม่ได้

เมื่อผมเข้ามาเกี่ยวข้องกับงบการเงินของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ผมพบว่า สตง.ขาดรายละเอียดมากมายที่ไม่ได้ทำเหมือนบริษัทสอบบัญชีใหญ่ๆ ระดับโลกทำ แม้ว่าองค์กรนั้นจะเป็นองค์กรใหญ่มีมูลค่าสินทรัพย์นับแสนล้านบาท ก็ไม่ต่างกัน ผมเคยตั้งคำถามในที่ประชุมของ บมจ.แห่งหนึ่ง ที่เป็นรัฐวิสาหกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมี สตง.เป็นผู้สอบบัญชี ว่าทำไมไม่มีรายละเอียดรายการทั้งหลายให้ดูเลย แม้กระทั่งในหมายเหตุประกอบงบก็ไม่มี แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกรรมทั้งหลายนี้ได้รับการตรวจสอบอย่างไร มาตรฐานอยู่ที่ไหน

คำตอบคือ เป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำมาต่อเนื่องตามระเบียบของวิธีตรวจสอบของ สตง. ผมบอกว่า โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว วิธีตรวจสอบก็ต้องเปลี่ยน รายการที่ลงในงบต่างๆ ก็เป็นรายการใหม่ๆ และที่สำคัญ มีหลายรายการที่เกิดในต่างประเทศที่มีระบบบัญชีต่างจากประเทศไทย แล้วเมื่อเอามารวมเป็นงบรวม (งบ consolidated) ทำอย่างไร คำตอบมีแค่ว่า เราเชื่อมั่นบริษัทสอบบัญชีของประเทศที่ไปลงทุน

ยิ่งผมมาเห็นรายงานประจำปีของหน่วยงานหรือองค์กรอิสระหรือองค์การมหาชน ที่ สตง.เป็นผู้สอบบัญชี ก็พบว่าขาดรายละเอียดมากมาย และไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้เลย เหมือนกับว่า องค์กรที่ถูกตรวจสอบทำมาอย่างไร ก็ตรวจสอบแค่นั้น ถ้าเขาไม่ทำมาก็ไม่ต้องเข้าไปสอบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่ปรากฎว่า สตง.เคยมีความเห็นไม่รับรองงบการเงินขององค์กรใดเลย รวมถึงองค์กรอย่างเช่น สปสช. สสส. ไทยพีบีเอส

ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อองค์กรเหล่านี้ไปรายงานต่อรัฐสภา เพื่อให้รับรองผลการดำเนินงานประจำปี เหล่าสมาชิกรัฐสภาก็ดูเหมือนไม่มีความรู้เรื่องบัญชีอะไรเลย หรืออาจจะมีแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะเอามาสอบถามเท่าที่เห็น การประชุมรับรองผลการดำเนินงานของรัฐสภา ได้รับความเห็นชอบ 100% และนี่ก็คือสาเหตุที่การทำรายงานประจำปีเป็นแค่การรายงานภาพรวมขององค์กรมากกว่าจะเป็นการตรวจสอบอย่างแท้จริง

สตง.เป็นด่านหน้า ที่จะต้องตรวจสอบงบการเงินขององค์กรภาครัฐอย่างเข้มข้น ลงลึกในรายละเอียดให้เป็นที่ปรากฎ ถ้า สตง.ไม่ได้ทำตรงนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คงไม่ต่างจากการทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชนเพราะเป็นเพียงตรายาง หรือ rubber stamp ให้กับองค์กรที่ตรวจสอบเท่านั้นเอง แล้วองค์กรอิสระเหล่านั้น ก็มีเงินใช้อย่างเปรมปรีดิ์จากภาษีประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ