จีนเริ่มกลับมา Restock สินค้า (แค่ชั่วคราว)

จีนเริ่มกลับมา Restock สินค้า (แค่ชั่วคราว)

การหยุดชะงักภาคการบริโภคและภาคการผลิตที่จีนกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ห่วงโซ่อุปทานทั่วทั้งโลกหยุดชะงักไปตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. เหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในจีนจำเป็นต้องหยุดการดำเนินงานธุรกิจชั่วคราว การหยุดผลิตสินค้าและหยุดการซื้อวัตถุดิบต่างๆ ทำให้ปริมาณสินค้าคงคลังที่จีนลดลงต่ำมาก การหยุดชะงักของภาคการบริโภคและภาคการผลิตที่จีนจึงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ตั้งแต่หลังเทศกาลตรุษจีนเป็นต้นมา อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัย บล. เคจีไอ (ประเทศจีน) ออกบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานล่าสุด เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นของภาคธุรกิจที่จีนแล้ว และส่งผลให้มีโอกาสที่จะเกิดการ Restock สินค้าล๊อตใหญ่จากจีน

Spread ของปิโตรเคมี (ส่วนต่างราคาขายปิโตรเคมีกับต้นทุนการผลิต) เริ่มฟื้นตัว จากทั้งปัจจัยด้านอุปสงส์และอุปทาน โดย i) โรงงานอุตสาหกรรมที่จีนหลายแห่งเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส ที่สามารถควบคุมได้ดีขึ้นที่ประเทศจีน ทำให้เริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าโดยเฉพาะวัตถุดิบการผลิตอย่างสินค้าประเภทปิโตรเคมีอีกครั้ง ii) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นด้านอุปสงส์ ขณะเดียวกัน Spread ของปิโตรเคมีที่ฟื้นตัวขึ้นมาอาจเป็นผลจากฝั่งอุปทานที่ลดลงด้วยอีกทางเช่นกัน iii) อุปทานปิโตรเคมีที่ลดลง มาจากการลดกำลังการผลิตของโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่งในช่วงที่ Spread ของปิโตรเคมีลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าจุดคุ้มทุน นอกจากนี้สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดเหตุระเบิดที่โรงงานปิโตรเคมี (Naphtha cracker) ที่ประเทศเกาหลี (Lotte Chemical) เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันที่แม้ว่าจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นในประเทศจีน และทำให้มีการ Restock สินค้าเกิดขึ้น แต่การแพร่ระบาดในประเทศอื่นๆนอกจากจีน จะเป็นปัจจัยกดดันอุปสงส์สินค้าต่างๆทั่วโลกอีกครั้ง ทำให้เราประเมินว่าการฟื้นตัวของ Spread ปิโตรเคมีรอบนี้อาจเป็นเพียงการฟื้นตัวในระยะสั้น จากการ Restock สินค้าและอุปทานที่ลดลงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แท้จริง

ทั้งนี้เราประเมินว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากมาตรการการเงินและการคลังของหลายๆประเทศทั่วโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะการออกมาตรการฉุกเฉิน โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาล่าสุด ขณะที่สัญญา CME เฟดฟันด์ฟิวเจอร์ให้น้ำหนักว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มเติมอีก 0.50% ในการประชุมวันที่ 18 มี.ค.นี้ ซึ่งได้สะท้อนมายังอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปีที่ปรับลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบฉุกเฉินครั้งนี้ ระยะสั้นอาจไม่ส่งผลดีต่อตลาดการเงินมากนัก แม้ในทางทฤษฎีทางการเงินแล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นปัจจัยบวกต่อ Valuation ของสินทรัพย์ต่างๆ อาทิ ตลาดหุ้น เนื่องจากนักลงทุนอาจตีความหมายว่า แนวโน้มของสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯและทั่วโลกมีโอกาสที่จะย่ำแย่มาก จนทำให้จำเป็นต้องมีมาตรการฉุกเฉินเพื่อป้องกันสถานการณ์ในกรณีเลวร้ายในอนาคต

กลับมาที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย เราประเมินว่าแม้ Valuation ตลาดหุ้นไทยขณะนี้ หลังจากที่ปรับตัวลงมาถึง -12% ตั้งแต่ต้นปี 2563 (คำนวณจากราคาปิดของดัชนีวันที่ 5 มี.ค.) อยู่ในระดับที่ไม่แพง โดย Earnings yield gap (ส่วนต่างของ Earnings yield หรือส่วนกลับของ Forward PE เทียบกับอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 5 - 10 ปี) อยู่ในระดับที่สูงมากกว่า 5.5% ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติแล้ว Valuation ระดับนี้เป็นจุดที่น่าสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้น แต่เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า ผลกระทบที่แท้จริงต่อเศรษฐกิจจะเป็นเท่าไหร่ เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสฯจะเริ่มสามารถควบคุมได้เมื่อไหร่ ทำให้มีโอกาสที่นักวิเคราะห์จะทำการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยลงอีก ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจึงยังมีความผันผวนต่อไปจนกว่าสถานการณ์ต่างๆจะเริ่มนิ่ง ดังนั้นสำหรับกลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้ นักลงทุนอาจจะต้องเน้นไปที่หุ้นพื้นฐานดีที่ผลการดำเนินงานจะกลับมาฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลังของปี 2563 และหุ้น Defensive ที่มีปันผลสูง เป็นหลัก