แอคชั่นสู้โควิด-19! ตั้งศูนย์ฯ จัดการผีน้อย งบกลาง แจกเงิน ?

แอคชั่นสู้โควิด-19! ตั้งศูนย์ฯ จัดการผีน้อย งบกลาง แจกเงิน ?

จับประเด็นร้อน ปฏิบัติการรัฐบาลสู้ "โควิด-19" .. แจกเงินกระตุ้นใช้จ่าย เบิกงบกลางทำหน้ากากอนามัย ตั้งศูนย์ข้อมูลสู้ข่าวลวง จัดการผีน้อย ?

การที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าทำไมถึงคิดว่า ประเทศไทยเข้าหรือจะเข้าระยะที่สาม? รวมถึง (3 มี.ค.) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คาดว่าอีกไม่นานไทยจะเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 หรือไม่ด้วย

ฝ่ายการเมือง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล (3 มี.ค.) ว่า ความเสี่ยงของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มาถึงจุดที่มีโอกาสที่เชื้อไวรัสนี้จะขยายตัวระบาดอย่างรวดเร็วแล้ว โดยผู้ป่วยในระยะฟักตัว ที่ทางการยังตรวจไม่พบเชื้อ มีอีกเท่าไหร่ก็ยังไม่มีใครทราบ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการ Quarantine ให้ถูกหลักการในการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เท่ากับรัฐบาลคือผู้ที่สร้างความเสี่ยงให้กับประชาชนชาวไทย

"ท่านใช้งบประมาณเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน เพื่อจัดซื้ออาวุธได้โดยอ้างป้องกันประเทศจากสงคราม แต่ภัยคุกคามประชาชน ท่านไม่ป้องกันให้ดี กลับโยนกันไปโยนกันมา แบบนี้ใช้ไม่ได้ เรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อพวกท่าน ท่านก็ออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชนได้ กฎหมายใดที่เป็นอุปสรรคต่อท่าน ท่านฉีกทิ้งได้ อย่ามาแก้ตัวว่าไม่มีกฎหมายรองรับ ขอเรียกร้องว่า เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของประชาชนชาวไทยและต่างชาติ เรื่องสำคัญอย่างยิ่งแบบนี้ไม่ทำ แล้วเราจะมีรัฐบาล มีนายกฯ มีรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ไว้เพื่ออะไร? "

ถือเป็นคำเตือนและเสียงเรียกร้องที่ควรรับฟัง ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติ ครม. อนุมัติงบกลาง เห็นชอบ โครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา วงเงิน 225 ล้านบาท เพื่อการผลิตหน้ากากผ้า ให้เป็นอีกทางเลือกแทนหน้ากากอนามัย มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ประชาชนผู้ผ่านการอบรมจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นผู้ผลิตตามมาตราฐานกระทรวงฯ เป้าหมายการผลิตหน้ากากผ้า 50 ล้านชิ้น มีต้นทุนชิ้นละ 4.50 แจกจ่ายกับประชาชนทั่วไปฟรี

วานนี้ (4 มี.ค.) นายกฯออกคำสั่ง จัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 (covid-19) โดยสรุปสาระสำคัญว่า ตามที่ปรากฏเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนองค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งเตือนทุกประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้การป้องกันการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรจัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือผู่ได้รับความเดือดร้อนทุกมิติ

รวมทั้งสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ให้รู้เท่าทัน ไม่ตื่นตระหนกในข่าวสารอันไม่เป็นความจริง อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เรียกโดยย่อว่า “ศูนย์ข้อมูลโควิด-19” ที่ทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่อื่นตามที่นายกฯ กำหนด โดยให้มีผู้อำนวยการศูนย์ฯ หนึ่งคนตามที่นายกฯมอบหมาย ขึ้นตรงต่อนายกฯ

สำหรับภารกิจอำนวยการ ประสานงาน และกำกับดูแลข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าว และให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ คือ รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่อย่างถูกต้อง รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน และประสานการช่วยเหลือ ติดตามการปฏิบัติงาน พร้อมชี้แจงประชาชนและภาคเอกชน เพื่อประสานความร่วมมือโดยเฉพาะขั้นตอนการเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อ การรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อสนับสนุนภารกิจ โดยให้รายงานความคืบหน้าต่อนายกฯ ทุกวัน

ขณะที่ มาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยพิจารณาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของผู้ที่เดินทางกลับมา อย่างเช่นที่ผ่านมา มีมาตรการคัดกรองอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น สนามบิน ท่าเรือ เขตชายแดน มีมาตรการรับมือเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และต้องมีการรับรองมาตั้งแต่ต้นทาง ว่าไม่มีการติดเชื้อ ทุกสายการบิน ต้องมีการตรวจสอบ ไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อขึ้นเครื่องบิน

เมื่อผ่านการคัดกรองแล้ว ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการการคัดแยก ผู้ที่มีไข้จะต้องเข้าสู่พื้นที่การกักตัวของรัฐ ทั้งนี้พื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากเกาหลี คือ 2 เมือง คนที่มาจาก 2 เมืองนี้ ได้แก่ "แทกู" และ "คย็องซัง" โดยเมื่อเข้าสู่ประเทศไทยจะต้องถูกควบคุม ไม่มีการกลับไปควบคุมที่บ้าน จะมีพื้นที่สำหรับควบคุมไว้ กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเป็นพื้นที่ของกองทัพหรือโรงพยาบาลตามภูมิลำเนา โดยมีแพทย์เข้าไปดูแล โดยจะต้องถูกกักตัว 14 วัน

ขณะเดียวกัน ในแง่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ หลังการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอนุมัติชุดมาตรการที่ 1 ในการดูแลผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยขนาดของชุดมาตรการจะต้องเหมาะสมที่จะสามารถดูแลเศรษฐกิจในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งหากคิดในแง่วงเงินแล้วจะมีมากกว่า 1 แสนล้านบาท และไม่ได้นำมาจากเงินกู้ หากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นชอบ จะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันอังคารที่ 10 มี.ค.นี้

หนึ่งในชุดมาตรการ คือ การโอนเงินเข้าไปช่วยเหลือ เน้นกลุ่มที่มีรายได้น้อย และ อาชีพอิสระ คาดว่าจะคลอบคลุมมากกว่า 10 ล้านคน โดยอาจจะมีรายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาจะต้องมีความชัดเจน ซึ่งขณะนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)อยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนวงเงินในการช่วยเหลือจะมากกว่า 1 พันบาทต่อคน และ จะเป็นลักษณะการทยอยโอนให้ โดยผ่านระบบพร้อมเพย์

นี่เป็นปฏิบัติการสู้โควิด-19 ของรัฐบาล ลุยจัดการผีน้อย ตั้งศูนย์ข้อมูลสู้ข่าวลวง เบิกงบกลางทำหน้ากากอนามัยแจกประชาชน และจะแจกเงินให้ไปจับจ่ายสู้ผลกระทบเศรษฐกิจซบเซา..จึงได้แต่หวังว่าเอาอยู่ และประเทศฟื้นตัวได้เร็ว!!