การจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่(น่าจะ)ปฏิบัติได้จริง

การจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่(น่าจะ)ปฏิบัติได้จริง

ขยะพลาสติกมีต้นกำเนิดหลักๆ จาก 2 ส่วนคือ ภาคโรงงานอุตสาหกรรม (เช่น เศษบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ที่ตกคุณภาพหรือคัดทิ้ง)

และภาคประชาชนหรือชุมชน ขยะพลาสติกชุมชนมีองค์ประกอบหลากหลายและซับซ้อนกว่าขยะพลาสติกจากโรงงาน

เพราะขยะพลาสติกชุมชนมีทั้งที่เป็น 1.พลาสติกชนิดวัสดุเดียวเช่น ถุงก๊อบแก๊บ แก้วน้ำพลาสติก หลอดพลาสติก ช้อนและส้อมพลาสติก 2.ขยะพลาสติกที่มีชนิดวัสดุพลาสติกหลากหลายประกอบอยู่ด้วยกัน เช่น ขวดน้ำเป็นพลาสติกแบบ PET แต่ฝาจุกเป็นพลาสติกแบบ HDPE หรือ PP และป้ายแปะติดข้างขวดเป็นพลาสติกแบบ PVC และ 3.ขยะที่มีวัสดุพลาสติกต่างชนิดผนึกรวมกันเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว เช่น ถุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและถุงขนมขบเคี้ยวที่ผลิตจากพลาสติกลามิเนตหรือพลาสติกเคลือบฟิล์มเข้ากับวัสดุอื่นๆ ซึ่งจำนวนชั้นฟิล์มของพลาสติกจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการใช้งาน

นอกจากนี้ ขยะพลาสติกชุมชนนี้จะไม่อยู่เป็นชิ้นหรือซากพลาสติกโดดๆ แต่จะรวมอยู่กันไปกับขยะอื่นๆ ที่มาจากบ้าน หรืออาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า โรงพยาบาล ตลาด ฯลฯ ซึ่งมีทั้งเศษอาหาร เศษใบไม้ ซากสัตว์ตาย กระป๋องเหล็ก กระป๋องอะลูมิเนียม แก้ว กระดาษ สารเคมีไม่ใช้แล้ว ยาหมดอายุ ฯลฯ ปะปนอยู่ด้วย

ปัญหาของขยะพลาสติกชุมชนจึงซับซ้อนและยากกว่าปัญหาของขยะพลาสติกจากโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นในบทความนี้จึงจะเน้นที่การจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกชุมชน ซึ่งหากจัดการได้ ปัญหาขยะพลาสติกจากโรงงานก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ จะสามารถจัดการได้ไม่ยาก

ทฤษฎีการจัดการขยะบ่งบอกว่าต้องจัดการตั้งแต่ 1.ต้นทางได้แก่ การลด ละ เลิกการผลิตขยะ ถ้าทำให้เป็น zero waste ไม่ได้และยังมีขยะก็ต้องแยกขยะออกมาให้สะดวกแก่การจัดการขั้นต่อไป 2.กลางทาง คือการเก็บ การขน การนำไปสู่ศูนย์ขยะ ไปจนถึงการนำไปยังสถานที่ที่จะกำจัดขยะ และ 3.ปลายทางหรือการกำจัดขยะไม่ว่าจะเป็นแบบหลุมฝังกลบทั้งแบบถูกสุขลักษณะและไม่ถูกสุขลักษณะ โรงหมักทำปุ๋ย โรงไฟฟ้าจากขยะ ฯลฯ

และก็เช่นกันในที่นี้จะขอไม่พูดถึงการลด ละ หรือเลิกการผลิตขยะ เพราะเป็น 3Rs ที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่จะขอพูดถึงการแยกขยะพลาสติกเป็นการเฉพาะ เมื่อพูดถึงการแยกขยะหลายคนมักบ่นว่าไม่รู้จะแยกไปทำไมในเมื่อสุดท้ายเทศบาลก็เอาไปทิ้งรวมกันอยู่ดี ตรงนี้ขอให้ข้อมูลเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ปฏิบัติงานด้านขยะว่าความเข้าใจรับรู้ (perception) นั้นไม่จริง ที่ไม่จริงก็เพราะหากขยะนั้นขายได้ เช่น หนังสือพิมพ์ ขวดน้ำ PET กระป๋องแคน มันเป็นเม็ดเงินซึ่งเขาจะไม่ทิ้งรวมกันไป หากมันเป็นรายได้เข้ากระเป๋าเขาได้อย่างงาม

พูดถึงการแยกขยะพลาสติกกับการขายได้ เราคงต้องถามตัวเองว่าเราหรือคนในบ้านเรา ในครอบครัวเรา ในชุมชนเราแยกไหม ถ้าแยกเรารู้ไหมว่าต้องแยกอย่างไร อันไหนเป็น PET อันไหนเป็น PS อันไหนเป็น PP อันไหนรีไซเคิลได้ อันไหนรีไซเคิลไม่ได้ และขยะพลาสติกแบบใดขายได้แบบใดขายไม่ได้ รวมทั้งชิ้นส่วนไหนในผลิตภัณฑ์หรือสินค้าชนิดหนึ่งๆ นั้นเป็นพลาสติกแบบใด ยกตัวอย่างเช่นกล่องพลาสติกมีฝามีหูหิ้ว ตัวกล่องกับฝาและหูหิ้วอาจเป็นพลาสติกคนละชนิด ซึ่งหากต้องการขายเพื่อนำไปรีไซเคิล เราก็ต้องแยกชิ้นส่วนตามประเภทพลาสติกให้ดีเสียก่อนตั้งแต่ต้นทาง ไม่เช่นนั้นก็ขายไม่ได้ตรงนี้แหละคือหัวใจ 

ตรงนี้แหละคือปัญหาและสาเหตุที่ทำให้กระบวนการรีไซเคิล หรืออัพไซเคิล (upcycle) เกิดขึ้นจริงไม่ได้ในบริบทแบบไทยๆ ซึ่งหากขายทำเงินไม่ได้เราก็ถอดใจและจะโยนขยะพลาสติกทุกชนิดไปกับขยะทุกอย่างจากบ้านเรา กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้จนปัจจุบัน

แต่ปัญหามีไว้แก้ ทางแก้ที่เราอยากจะเสนอต่อภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคผู้ประกอบการคือให้แยกขยะพลาสติกออกจากขยะอื่นๆ ของชุมชนเท่าที่แยกได้ง่ายและสะดวกรวมทั้งขายได้ เช่นขวดน้ำพลาสติก PET ส่วนขยะพลาสติกอื่นที่แยกยากหรือแยกไม่ได้ จะเพราะแยกไม่เป็นหรือเพราะมันผสมเป็นเนื้อเดียวกันกับวัสดุอื่นๆ เช่น กล่องนม ซองขนมกรุบกรอบ ถุงพลาสติกที่มีป้ายกระดาษแปะติดอยู่ แบบนี้ก็ไม่ต้องแยก ถึงจะออกกฎหมายมาบังคับให้แยกอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าสภาพสังคมไทยในปัจจุบันนี้มันไม่เอื้ออำนวยให้ทำได้เช่นนั้น

แต่ถ้าไม่แยก แล้วจะทำเช่นไรกับขยะพลาสติกรวมประเภทพวกนั้น

ตรงนี้ต้องขออธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ ว่าพลาสติกทั้งปวงเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพลังงาน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพลาสติกเองก็เป็นแหล่งเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ต้นอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อแยกขยะพลาสติกต่างชนิดออกจากกันไม่ได้ ขายไม่ได้ เอาไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลไม่ได้ เราก็ขอเสนอว่าให้เอาขยะรวมประเภทนั้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเสียเลย ก็น่าจะดีกว่าการทิ้งรวมไปกับขยะชุมชน โดยจะเอามาอัดเป็นแท่ง RDF (Refuse Derived Fuel) หรือส่งตรงเข้าเตาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตเป็นไฟฟ้า ก็น่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ดีที่สุดในบริบทแบบไทยๆ เรา

นอกจากนี้ขยะพลาสติกที่ว่านี้สกปรกหรือไม่ก็ไม่ใช่ปัญหา การที่จะซื้อขายรวมทั้งรวบรวมไปส่งโรงไฟฟ้าจากขยะ (พลาสติก) ก็จะยิ่งง่ายขึ้นไปอีกด้วย

ด้วยมาตรการที่เสนอมานี้เราเชื่อว่าขยะพลาสติกส่วนที่ปัจจุบันแยกไม่ได้ขายไม่ได้นี้ก็จะมีที่เส้นทางเดินที่แก้ปัญหาได้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ก็ยังมีอุปสรรคคือด้วยระบบการค้าที่มีอยู่ปัจจุบันศูนย์รับซื้อขยะ (ยัง) ไม่รับซื้อขยะพลาสติกที่มีพลาสติกหลายประเภทปนๆ กัน สาเหตุน่าจะเป็นเพราะผู้ประกอบการที่ปลายทางยังมุ่งจะเอาขยะพลาสติกมารีไซเคิลหรืออัพไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น จึงทำให้พ่อค้าคนกลางไม่รับซื้อจากซาเล้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นซาเล้งก็ไม่รับซื้อจากชาวบ้าน ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องทิ้งขยะพลาสติกรวมปนไปกับขยะชุมชน จนเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ทุกวันนี้

ทางแก้คือรัฐและภาคธุรกิจต้องจัดให้มีระบบการเงินการคลัง หรือแม้กระทั่งกฎระเบียบที่เอื้อให้การซื้อขายพลาสติกรวมชนิดแบบนี้เป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ และเมื่อถึงวันนั้นขยะพลาสติกรวมชนิดก็จะกลายเป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าและมีราคาซื้อขายได้ ปัญหาขยะพลาสติกทิ้งลงทะเลก็จะลดหายไป รวมทั้งไทยก็จะไม่ติดอันดับโลกเป็นผู้ร้ายด้านขยะพลาสติกในทะเลอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเสนอมาตรการซื้อขายขยะพลาสติกมาเป็นวัตถุดิบผลิตพลังงานเช่นที่ว่านี้ก็ใช่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับระบบ zero waste หรือกระบวนการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล รวมทั้งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของขยะพลาสติก เพราะนั่นน่าจะเป็นมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดที่พึงทำ

โดย...

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ศ.กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชนกวรรณ กะตะศิลา

นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล