อะไรดี?

อะไรดี?

การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า“โควิด-19”นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญของประชาคมโลกในรอบทศวรรษ

 โดยปัจจุบัน นอกจากประเทศจีนซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของโรคระบาดแล้ว ไวรัสกำลังลุกลามอยู่ในกว่า 60 ประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมได้ทำลายสถิติเก่าของโรคซาร์สอย่างง่ายดาย ด้วยรายงานตัวเลขล่าสุดเพิ่มขึ้นทะลุ 9 หมื่นรายเป็นที่เรียบร้อย และยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถหยุดยั้งการติดเชื้อได้ในเร็วนี้ หากเป็นเช่นนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิด-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและภาพรวมการลงทุนในปี 2563 ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่าผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจอาจไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าที่แน่นอนได้ ซึ่งความเสียหายโดยรวมยังต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการควบคุมโรค แต่สิ่งที่ค่อนข้างชัดเจน คือ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในวงกว้าง นอกเหนือจากธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ล่าสุด ดัชนี PMI ทั้งภาคการผลิตและบริการของจีนปรับตัวลดลงอย่างมากในเดือน ก.พ. สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเกิดจากมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดของรัฐบาลนับตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบัน ภาคธุรกิจการผลิตบางส่วนของจีนทยอยกลับมาดำเนินการเป็นปกติ หลังอัตราผู้ติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ในประเทศลดจำนวนลงต่อเนื่อง แต่เชื้อโควิด-19 ที่กระจายไปยังหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือ กำลังสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งมีโอกาสทำให้การสกัดกั้นโรคระบาดเป็นเรื่องยาก และยืดเยื้อจนอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ

นอกจากนี้ นโยบายการค้าของสหรัฐฯ เสถียรภาพทางการเมืองในหลายประเทศ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ  ยังเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเหตุผลให้เชื่อว่านโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลายจะเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนอัตราการเติบโตในระยะข้างหน้า ล่าสุด บรรดาผู้นำชาติสมาชิกประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (กลุ่มจี 7) เตรียมประชุมหารือใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกันให้สามารถก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปได้ โดยเฉพาะท่าทีความพร้อมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทันทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ยืนกรานจะคงอัตราดอกเบี้ยฯ ตลอดทั้งปี ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดการเงินบางส่วนเริ่มคาดหวังผลเชิงบวกของมาตรการกระตุ้นมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญผลกระทบของเชื้อโควิด-19 ยังเร็วเกินกว่าจะสรุปเป็นตัวเลขได้ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้กำหนดนโยบาย ทั้งนี้ บลจ.วรรณ ได้ทบทวนการลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์ และปรับน้ำหนักพอร์ตกลยุทธ์ทั้งระยะสั้นและยาวให้สอดคล้องกับมุมมองข้างต้น ซึ่งเน้นการถือครองกองทุนประเภทตราสารหนี้ในสัดส่วนมากกว่า 60% ของทั้งหมด ขณะเดียวกันยังคงให้น้ำหนักกับสินทรัพย์เสี่ยงประเภทหุ้นไว้บ้าง ประมาณ 1 ใน 4 เพื่อแลกกับโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตร แต่ให้กระจายการลงทุนออกเป็นหลายประเทศ โดยเลือกตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว ส่วนที่เหลืออีก 10% จัดสรรในสินทรัพย์ทางเลือกบางประเภทที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและทองคำเพื่อลดความผันผวนของพอร์ต ซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ประมาณ 4-5% ต่อปี ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำให้ชะลอการลงทุนใหม่ออกไปก่อน