เสริมภูมิต้านทานทางการเงิน สู้ไวรัส COVID-19

เสริมภูมิต้านทานทางการเงิน สู้ไวรัส COVID-19

ท่านผู้อ่านคิดมั้ยครับว่าเพียงแค่ 2 เดือนแรกสำหรับปี 2020 เท่านั้น พวกเราได้ เผชิญกับปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกกันเสียแล้ว

จากเหตุการณ์ ไข้หวัดโคโรน่าไวรัส หรือ COVID-19 ระบาด โดยมีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน จนลามไปทั่วโลก โดย ณ วันที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกขึ้นไปสูงถึง 90,000 คน นำมาโดยประเทศจีน และ เกาหลีใต้ตามลำดับ ผลกระทบจาก COVID-19 กระทบต่อเศรษฐกิจไทยเรา ที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลักอย่างมาก ผนวกกับ ความหวาดกลัวการติดเชื้อไวรัส ทำให้ กิจกรรมที่มีผลทางเศรษฐกิจ หลายๆงานได้มีการปรับเปลี่ยนงานเป็นระบบปิดหรือยกเลิกไป งานที่คาดหวังว่าจะเป็นงานที่สร้างรายได้จำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็ถูกยกเลิกไป นอกจากนั้น ความหวาดกลัวยังลดอัตราการจับจ่ายใช้สอยหรือการทำกิจกรรมนอกบ้านของประชาชนลงอีกด้วย ดังจะเห็นได้จาก บรรดาห้างร้าน ที่มีจำนวนลูกค้าลดน้อยลงนั่นเอง

 ดังนั้นวันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าวิธีการสร้างภูมิต้านทานทางด้านการเงินให้ได้อ่านกันนะครับ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นสิ่งที่หลายๆคนเริ่มวิตกกังวลว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปดี หากเป็นพนักงานประจำ ก็อาจจะมีความวิตกกังวลที่น้อยกว่าเพราะว่ายังมีเงินเดือนที่ยังรับเป็นประจำ แต่หากเป็นเจ้าของธุรกิจแล้ว อาจจะต้องคำนวนและวางแผนหลายๆอย่าง วันนี้ผมมีสิ่งที่ให้ท่านได้เริ่มคิดและเริ่มวางแผนกันนะครับ โดยเริ่มจากการทำการประมาณการ ค่าใช้จ่ายในอีก 12 เดือนข้างหน้าว่าเราจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไรในแต่ละเดือนบ้าง แล้วนำมาเทียบกับรายได้ประมาณการณ์จากสมมติฐานว่าหาก COVID-19 ยังอยู่แบบนี้ไปอีก 3-6 เดือน รายได้เราจะเป็นเท่าไร และ เมื่อนำไปเทียบกับรายจ่ายที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนนั้น จะเพียงพอหรือไม่ หากลองประมาณการณ์ดูแล้วพบว่า หากยอดขายยังไม่ขยับอยู่แบบนี้จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อธุรกิจอย่างแน่นอน ก็ถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการในขั้นตอนต่อไปนั่นก็คือ การลดกระแสเงินสดจ่ายออกให้ต่ำลง

สำหรับกระแสเงินสดจ่ายออกนั้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายต่างๆในการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าการตลาด ค่าเช่าสถานที่เป็นต้น เพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ในตัวกิจาการ การเลือกใช้วิธีการลดการเก็บสต็อกสินค้าให้น้อยลง การขอชะลอการสั่งผลิตสินค้า การขอต่อรองกับทางผู้ผลิตวัตถุดิบว่าขอซื้อจำนวนขั้นต่ำที่น้อยลง การขอต่อรองขอขยายระยะเวลาการชำระค่าวัตถุดิบจากผู้ผลิต และการขอต่อรองลดค่าเช่าสถานที่ ก็เป็นหลายๆกลยุทธ์ที่เจ้าของธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ได้ เพื่อให้กระแสเงินสดมีมากขึ้น ชดเชยกับรายได้ที่ลดลง

เมื่อเราได้ลองทำแบบจำลองแผนการเงินของธุรกิจของเราในอีก 12 เดือนข้างหน้า และมีการปรับตัวเลข หาวิธีการ จนมั่นใจได้แล้วว่า ธุรกิจจะสามารถเอาตัวรอดได้ในช่วงวิกฤตข้างหน้า สิ่งถัดมาที่หลายๆคนอาจจะหลงลืมหรือว่าพลาดไปนั่นก็คือ การปิดความเสี่ยงของตัวเจ้าของธุรกิจนั่นเอง

สำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็กนั้น ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ ก็เปรียบเสมือนเสาหลักของธุรกิจที่มีผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจโดยตรง ดังนั้น ผลกระทบทางการเงินของเจ้าของกิจการ ก็มักจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้วย เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น หากเจ้าของกิจการ หรือคนในครอบครัวของเจ้าของกิจการ มีอาการเจ็บป่วยจากการได้รับเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ตามมา ผลก็คือ เจ้าของกิจการอาจจะต้องนำเงินออกมาจากธุรกิจ ทำให้ธุรกิจมีเงินสดหมุนเวียนน้อยลงไปด้วย เพื่อที่จะปิดความเสี่ยงนี้ การเลือกทำประกันสุขภาพให้กับตัวผู้ประกอบการนั่นเอง หรือจะเลือกซื้อเพียงแค่ประกันคุ้มครองการเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรน่า ก็ได้ครับ โดยประกันคุ้มครองการเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรน่า นั้นเหมาะสำหรับ ผู้ที่มีประกันสุขภาพไม่เพียงพอ หรืออยู่ในวัยที่ ไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้ เช่นบิดา มารดา ของผู้ประกอบการเป็นต้น  โดยที่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบแบบประกันให้ดีก่อนที่จะซื้อด้วยนะครับ เพราะจากที่ตัวผู้เขียนหาข้อมูลมานั้น แบบประกันแต่ละเจ้าก็มีความแตกต่างกันในเงื่อนไขความคุ้มครอง บางแบบประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้เป็นแค่ค่ารักษา บางบริษัทประกันก็จะให้เป็นเงินก้อนทันทีที่ตรวจพบเลย และบางบริษัทประกันนั้นจะให้เงินชดเชยก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะโคม่าแล้วเท่านั้น ผู้ซื้อควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อนนะครับ

หลังจากที่เราได้ทำแผนการเงินธุรกิจล่วงหน้าและปิดความเสี่ยงของตัวผู้ประกอบการเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญด้วยนั้นก็คือ สุขภาพใจ ของเรานั่นเอง กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญครับ อย่าลืมหมั่นฝึกฝนจิตใจให้ แข็งแกร่ง หมั่นเติมกำลังใจอยู่เสมอๆ ตัวผู้เขียนเองนั้นก็ขอเป็นกำลังใจกับทุกท่านนะครับ ขอให้ เข้มแข็ง และเราจะฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ”