บทเรียนจาก COVID-19: มาสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศเรากันเถอะ

บทเรียนจาก COVID-19: มาสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศเรากันเถอะ

คำพูดที่ว่า “When China sneezes, the world catches a cold” เมื่อประเทศจีนจาม ประเทศทั่วโลกจะเป็นหวัดกันหมด

คำพูดนี้ดูจะไม่เกินจริงไปแล้วในเวลานี้ ยิ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เหตุการณ์หลายเหตุการณ์แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่กับผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้า ข้อขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน การถูกดีสรัปที่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอันมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง (forword and backward linkages) ผลกระทบจากโรคระบาดอย่าง COVID-19 เป็นต้น

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยจำนวนไม่น้อย ก็อยู่กับฝันดีที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวเมืองไทย แถมฝันดีฝันหวานขึ้นอีก เมื่อนักท่องเที่ยวจีนขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้เผื่อใจหรือทางหนีทีไล่ไว้เลยว่า นักท่องเที่ยวจีนจะหายไปจากไทยแบบฮวบฮาบวันนี้ COVID-19 จึงกลายเป็นฝันร้ายของใครหลายคน และยังไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับฝันร้ายนี้อีกนานแค่ไหน

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ณ วันนี้ทำให้เราเห็นชัดเจนถึงความเปราะบางของการท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบที่รุนแรง ดังที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงความเสี่ยงเหล่านี้ว่าอาจเป็นฝันร้ายชั่วข้ามคืนหากนักท่องเที่ยวจีนไม่มาเที่ยวไทยในบทความ “คิดอนาคตท่องเที่ยวไทย High Risk-High Return”เอาไว้ 4 ตอนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 โดยได้กล่าวถึงทั้งศักยภาพและความเสี่ยงของการท่องเที่ยวไทย (ท่านที่สนใจสามารถอ่านบทความย้อนหลังได้ที่นี่

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647190)

ถ้าหลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป คำถามที่น่าขบคิดกันต่อก็คือ เหตุการณ์นี้จะกลายเป็นความปกติรูปแบบใหม่ หรือNew Normalของโลกหรือไม่พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่  นักท่องเที่ยวอาจเลือกไปเที่ยวยังประเทศที่มีความสามารถในการควบคุมโรคหรือป้องกันโรคระบาดได้ดี การตัดสินใจของนักท่องเที่ยวอาจมีปัจจัยที่มากขึ้น หรือแม้แต่อาจเกิดเหตุการณ์สุดโต่งขนาดที่ว่า นักท่องเที่ยวหันไปมีประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) แทนที่จะเดินทางมาเที่ยวจริงๆ ก็ได้ หากเป็นเช่นนั้น เราต้องคิดกันอย่างหนักเพื่อเตรียมการรองรับ

ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้น เราต้องตระหนักถึงความเสี่ยง และมีแผนรองรับความเสี่ยงความเสี่ยงในระดับองค์กรโดยส่วนใหญ่แล้วแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) ความเสี่ยงทางด้านการเงิน(Financial Risk) ความเสี่ยงทางด้านการปฏิบัติงาน (Operational Risk) ความเสี่ยงทางด้านกฎหมายและข้อกำหนดผูกพันองค์กร(Compliance Risk : CR)ซึ่งองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะมีแผนการบริหารความเสี่ยงเตรียมพร้อมไว้เสมอ

กรณีศึกษาที่มักจะถูกนำมาเป็นตัวอย่างบ่อยๆ คือ กรณีของบริษัทเชลล์ที่ได้ใช้กระบวนการมองอนาคตผ่านวิธี Foresight ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970และทำภาพอนาคต (Scenario Building) 2 กรณี คือ กรณีราคาน้ำมันขึ้นต่อไปเรื่อยๆ และกรณีที่ประเมินว่าราคาน้ำมันอาจตกลงก็ได้ ทั้งที่ในขณะนั้นผู้ประกอบการทั่วไปไม่ได้คิดถึงภาพสถานการณ์ราคาน้ำมันตกเลย ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันจริงๆ ทำให้บริษัทเชลล์สามารถหยิบเอาแผนการบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันตกมาใช้ได้ทันที และทำได้ดีจนสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดแซงบริษัทอื่นขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในขณะที่บริษัทอื่นที่ไม่ได้คาดคิดถึงภาพอนาคตกรณีราคาน้ำมันตกลงเลย คิดเพียงว่าราคาน้ำมันจะขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่สามารถรับมือได้ทัน ขาดทุนเป็นอย่างมาก

หลายๆ ครั้งเราพบว่า คนเราหลีกเลี่ยงที่จะวาดภาพอนาคตของตัวเองหรือองค์กรในทางที่เลวร้ายจากประสบการณ์ที่ทางสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ของเราได้จัดกิจกรรม Workshop ให้หลายหน่วยงานได้ทำภาพอนาคตด้วยวิธี Foresight ก็พบว่า คนจำนวนไม่น้อยไม่อยากพูดถึงภาพอนาคตที่เลวร้ายสุดๆ (Worst Case Scenario) คล้ายกับว่าเป็นสิ่งต้องห้ามพูดขององค์กร ถ้าพูดไปก็จะทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี ทั้งที่ความจริงแล้วการที่เรากางภาพอนาคตทุกภาพได้ครบถ้วน ไม่ละเลยแม้กระทั่งภาพอนาคตเลวร้ายสุดๆ ขึ้นมาเป็นสิ่งสำคัญ

แม้ว่าการเกิดภาพอนาคตที่เลวร้ายสุดๆนี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ถ้าหากภาพอนาคตนี้เป็นจริงขึ้นมา จะเกิดผลกระทบรุนแรงมาก ดังนั้นการที่คนเราหลีกเลี่ยงที่จะไม่คิดถึง ไม่พูดถึง ไม่เตรียมแผนการรองรับกับภาพอนาคตที่เลวร้ายไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้นจริงจะยิ่งทำให้ไม่สามารถจัดการเหตุการณ์ได้ หรือซ้ำเติมวิกฤตให้หนักขึ้นอีก

ในระดับประเทศเองก็ต้องมีการประเมินและมีแผนรองรับความเสี่ยงประเทศไทยเราควรต้องดูเรื่องเหล่านี้เช่นกัน เพื่อที่จะประเมินได้ว่า ภาพอนาคตมีแนวโน้มจะไปสู่จุดไหน (Likely Scenario)ถ้ามีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สถานการณ์ที่เสี่ยง หรือเกิดเหตุการณ์เลวร้ายควรมีแนวทางการป้องกันอย่างไร หรือหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วจะมีแผนในการรับมือเช่นไร ซึ่งก็อาจจะต้องพิจารณาดูในหลายมิติ อาทิ มิติความมั่นคง มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม นอกจากนั้น การจัดทำภาพอนาคตจะทำให้เราร่วมกันสร้างประเทศ เห็นภาพรวมกันว่าเราเองต้องการไปสู่ภาพอนาคตในฝันเช่นไร (Designed Scenario)

COVID-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ซึ่งคนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่เมื่อมีคนป่วยจนถึงระดับหนึ่งภูมิคุ้มกันก็จะถูกสร้างขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ แต่ในกรณีของประเทศถ้าเราปล่อยให้เหตุการณ์คราวนี้ผ่านแล้วผ่านเลยไป โดยไม่วางแผนสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เมื่อมีประเทศไหนไม่สบายอีกในอนาคต เราก็มีโอกาสที่จะล้มป่วยไปด้วยได้อีก

โดย ...

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation