Tesla” เจ้าสังเวียนดีสรัปชั่น [5]

Tesla” เจ้าสังเวียนดีสรัปชั่น [5]

และแล้วอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เมื่อบริษัทเทสล่า (Tesla) ผู้ผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV)

กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในอเมริกาที่ประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ซึ่งมากกว่ามูลค่าตลาดของบริษัทรถยนต์ Ford, GM และ Fiat Chrysler รวมกัน เป็นผลมาจากการที่เทสล่ามีผลประกอบการที่เกินคาดหมายโดยสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 367,500 คันในปี 2019 รวมถึงการเปิดตัวของโรงงานในเซี่ยงไฮ้ (GigaFactory) ที่ช่วยเพิ่มการผลิตให้กับเทสล่า และเพิ่มยอดขายในตลาดจีน ทำให้เทสล่ามีมูลค่าตลาดเป็นรองแต่บริษัทเพียงโตโยต้าที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลกที่ประมาณ 227,000 ล้านดอลลาร์และมียอดขายรถยนต์กว่า 10.7 ล้านคันในปี 2019

ความสำเร็จของเทสล่าในเวลานี้อาจเป็นเพียงแค่ครึ่งทางฝันของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่ต้องการกระตุ้นให้ยานพาหนะหันมาใช้พลังงานสะอาดอย่างรถยนต์ EV ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ที่ผู้คนต้องการ โดยรอต่อยอดอีกครึ่งทางฝันเพื่อเปลี่ยนกิจวัตรในช่วงเวลาเดินทางให้เป็นเวลาอิสระสำหรับกิจกรรมผ่านนวัตกรรมพาหนะไร้คนขับ (AV) ที่จะดีสรัปการขนส่งตลอดไป

 

หมากที่วางไว้

นอกจากรถยนต์เทสล่าจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ทั้งหมดแล้ว อีลอนและทีมงานได้ออกแบบรถเทสล่าราวกับเป็นสมาร์ทโฟนเคลื่อนที่โดยการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เซนเซอร์และซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของรถยนต์ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่สามารถถูกอัพเดทได้เช่นเดียวกับการอัพเดทซอฟต์แวร์ในสมาร์ทโฟน เรียกฟังก์ชั่นการส่งซอฟต์แวร์เพื่ออัพเดทระบบของรถยนต์ว่า “Over-The-Air (OTA)”

เทสล่าได้ส่ง OTA เพื่ออัพเดทการทำงานของรถยนต์อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่โมเดล 3 มีการอัพเดทซอฟต์แวร์การทำงานแล้วกว่า 124 OTA หรือในเกือบทุกสัปดาห์เพื่อแก้ปัญหา ปรับปรุงการทำงานและเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ กล่าวกันว่าการอัพเดทของ OTA ช่วยสร้างความรู้สึกว่ารถยนต์ไม่ได้เก่าไปตามเวลา โดยเฉพาะเมื่อเทสล่าเริ่มให้บริการ “In-Car Infotainment” แบบเหนือชั้นด้วย OTA ซึ่งเพิ่มบริการผ่านหน้าจอคอนโซล อาทิ “Caraoke” ที่บรรจุเพลงและเสียงดนตรี ตลอดจนการเชื่อมกับบริการ Netflix และ YouTube รวมถึงการเพิ่มเกมส์ใน Tesla Arcade เพื่อความบันเทิงในขณะรถจอด นับเป็นแพลตฟอร์มแห่งอนาคตที่ถูกสร้างเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรถเทสล่า

 

เหนือกว่าด้วย AV

รถเทสล่ามาพร้อมกับเรดาร์ อัลตร้าโซนิคเซนเซอร์เพื่อจับการเคลื่อนที่ของรถยนต์ที่สวนผ่านมาและโดยรอบช่วยป้องกันการชนและช่วยในการนำรถเข้าซองจอด ตลอดจน GPS และ Map (แต่ไม่ใช้ LiDAR) โดยเทสล่ากล่าวว่ารถยนต์เทสล่าที่ผลิตตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมาได้ถูกติดตั้งมาพร้อมกับ Hardware ที่ช่วยในการขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ

ซึ่งอีลอนได้ยกตัวอย่างประโยชน์ของการที่เทสล่ามีจำนวนรถยนต์กว่า 425,000 คันซึ่งวิ่งในท้องถนนและส่งข้อมูลเกี่ยวกับถนนและการขับรถกลับมายังระบบเพื่อพัฒนา AI ที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับ 

โดยในงาน “Autonomy Day” เดือนเมษายน 2019 อีลอนได้เปิดตัว “AI Chip” ที่เทสล่าพัฒนาขึ้นเองเพื่อใช้ในการประมวลผลสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Software) พร้อมกับเปิดตัวคอมพิวเตอร์ในรถยนต์ที่เรียกว่า “Full Self-Driving Computer (FSDC)” โดยอีลอนกล่าวว่าภายในปลายปี 2020 เทสล่าจะมีรถ AV ระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดโดยรถสามารถขับเคลื่อนได้เองในทุกสภาพแวดล้อมวิ่งอยู่บนท้องถนนนับล้านคัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากหลายค่ายต่างเห็นว่าเป็นความท้าทายที่เกินจริง

ความพยายามของเทสล่าในการวางแผนและพัฒนารถ EV และต่อยอดเป็น AV เกิดขึ้นเนื่องพร้อมกับการพัฒนาโมเดลรถใหม่ อาทิ “โมเดล Y” รถปิคอัพที่พร้อมจำหน่ายในต้นปี 2020 และรถบรรทุกอย่าง “Tesla Semi” ที่เปิดให้ยลโฉมไปเมื่อกลางปี 2017

 

มั่นคงด้านพลังงาน

เทสล่าเร่งการพัฒนาในทุกด้านรวมถึงด้านแบตเตอรี่ โดยในปี 2019 ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท Hibar ผู้ผลิต Precision Pump สำหรับการประกอบแบตเตอรี่ และบริษัท Maxwell ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ตลอดจนการร่วมเป็นพันธมิตรกับ Dalhousie University ของแคนาดาเพื่อผลิตลิเธียมไอออนแบตเตอรี่ (Li Ion) เทคโนโลยีใหม่ซึ่งจะช่วยให้เทสล่าสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นนับเท่าตัว และสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้เองเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของรถเทสล่า และใช้ใน PowerPack, MegaPak และ PowerWall ซึ่งเป็นแหล่งเก็บพลังงานไฟฟ้าที่เทสล่าจำหน่ายแก่อุตสาหกรรมและที่พักอาศัย ซึ่งช่วยลดข้อกังขาและสร้างความพร้อมด้านการผลิตแบตเตอรี่แก่เทสล่า

 

คลื่นดีสรัปชั่นกระทบฝั่ง

เมื่อรถ EV กลายเป็นเทรนด์รักษ์โลกที่ตอบโจทย์ภาวะโลกร้อนได้มากกว่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่อุตสาหกรรมรถ EV จนต่อยอดไปถึง AV จะดีสรัปอุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งใหญ่และอาจกระทบซัพพลายเชนทั้งระบบ เป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้วที่รถเทสล่ารุ่นแรกถูกผลิตออกสู่ตลาด รอเวลาให้เทสล่าเพาะบ่มนวัตกรรมใหม่ที่ข้ามอุปสรรคและเงื่อนไข กระทั่งดีสรัปอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ต้องพัฒนาและเปลี่ยนให้ทันเทรนด์ที่โลกต้องการ