ใกล้เกลือกินด่าง หรือว่าชังชาติ?

ใกล้เกลือกินด่าง หรือว่าชังชาติ?

ในช่วงนี้มีข่าวใหญ่มากมายทำให้หลากหลายเรื่องถูกกลบ เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเกาหลีใต้กลบเรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จในด้านเทคโนโลยี

กีฬาและศิลปะของชาวเกาหลีใต้ไม่ว่าจะเป็นการทำโทรศัพท์แบบพับได้ การชนะการแข่งขันกอล์ฟระดับโลกซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือการได้รับรางวัลตุ๊กตาทองของภาพยนตร์ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ต่างชาติเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ์ของวงการภาพยนตร์สหรัฐ พร้อมกันนั้น เรื่องการเสนอให้ใช้งบประมาณก้อนใหญ่แบบไม่น่าคุ้มค่าของไทยก็ถูกกลบไปด้วย นั่นคือ งบประมาณสำหรับวุฒิสมาชิกและนักการเมืองใช้ไปดูงานต่างประเทศซึ่งถูกมองว่าเป็นการผลาญงบประมาณพากันไปเที่ยว

การไปดูงานต่างประเทศเป็นประเพณีที่มีมานาน ซึ่งในช่วงหลังๆ นี้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้คงเพราะการเดินทางสะดวกสบายและทำได้ในเวลาอันสั้น พร้อมกันนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันไม่น่าคุ้มค่าก็เข้มข้นขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยทั่วไป ข้ออ้างในการไปดูงานต่างประเทศได้แก่การไปเรียนรู้ว่าเขาทำสิ่งต่างๆ อย่างไรเพื่อจะนำกลับมาใช้ในการทำงานและการพัฒนาประเทศ เนื่องจากด้านนี้ไม่มีมาตรสำหรับวัดความคุ้มค่าของการใช้จ่าย จึงยากที่จะฟันธงลงไปว่ามันคุ้มค่า จากมุมมองของผู้ไปดูงาน มันคุ้มค่าแน่นอน แต่ข้อกังขามาจากมุมมองของการพัฒนาประเทศ

คนไทยเดินทางไปดูงานเกือบทั่วโลก ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศใกล้ๆ ที่คนไทยไปดูงานกันมาก นอกจากนั้น ยังนิยมไปกันไกลๆ ถึงในยุโรปและอเมริกาอีกด้วย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้รับการยงย่องในวงการพัฒนาว่าก้าวหน้าทันฝรั่งในยุโรปและอเมริกาได้ในเวลาอันสั้น คำถามสำคัญอันดับหนึ่งซึ่งเราต้องตอบคือ เราไปดูและเห็นอะไรในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้วนำอะไรกลับมาใช้จึงทำให้เมืองไทยพัฒนาได้ช้าจนล้าหลังเขาแบบแทบไม่เห็นฝุ่น เริ่มจากญี่ปุ่นซึ่งเปิดประเทศรับแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ของฝรั่งอย่างกว้างขวางพร้อมๆ กับไทยในรัชสมัยของ ร. 4 ญี่ปุ่นและไทยไม่เสียเอกราชให้แก่ฝรั่งที่ออกมาล่าอาณานิคมในช่วงนั้น แต่ญี่ปุ่นพัฒนาก้าวหน้ากว่าไทยได้อย่างรวดเร็ว เพราะอะไร ทั้งที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าไทยมีทรัพยากรมากว่าญี่ปุ่น?

เกาหลีใต้มิได้เริ่มพัฒนาอย่างจริงจังจนกระทั่งหลังสงครามเกาหลียุติ หรือหลังญี่ปุ่นราว 100 ปี จากสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ที่แม้ธนาคารโลกยังมองว่าพัฒนาไม่ได้ ภายในเวลาราว 50 ปี เกาหลีใต้ตามญี่ปุ่นและฝรั่งทัน ส่วนไทยยังส่งคนไปดูงานเช่นเดิม รวมทั้งในเกาหลีใต้เนื่องจากยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มว่าจะติดกับดักการพัฒนาได้เพียงปานกลางอย่างถาวร เพราะอะไร ทั้งรัฐบาลผู้จ่ายงบประมาณและผู้ไปดูงาน เคยตั้งคำถามอย่างจริงจังและทำอะไรต่อไปอย่างที่ควรจะทำกันบ้างไหม?

หากวัดด้วยมาตรเวลาและระดับการพัฒนาของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เทียบกับการพัฒนาของไทย การไปดูงานของคนไทย ไม่น่าจะคุ้มค่าแม้แต่น้อย แต่นั่นยังไม่ร้ายเท่าการไปนำแนวคิดมาจากดินแดนแสนไกลถึงในละตินอเมริกา ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยพัฒนาประเทศแล้ว ยังจะทำให้ประเทศล้มละลายไม่ต่างกับหลายประเทศในย่านนั้นอีกด้วย แนวคิดนั้นคือ ประชานิยมแบบเลวร้ายที่ทำให้หลายประเทศในละตินอเมริกาล่มจมรวม ทั้งอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา

ผมได้นำเรื่องราวของประเทศดังกล่าวมาสังเคราะห์หาบทเรียน และเขียนเผยแพร่มานานในรูปของหนังสือและบทความ เช่น หนังสือเรื่อง สู่จุดจบ !” ซึ่งนายกรัฐมนตรีแนะนำให้อ่านและเรื่อง ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ (ทั้ง 2 เล่มดาวโหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของ มูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) และบทความที่รวมไว้ในหนังสือเรื่อง หายนะฤาสิ้นอารยธรรม คุณสมลักษณ์ หุตานุวัตรได้อ่านบันทึกหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ไว้ให้เลือกฟังได้ใน YouTube แล้ว

บทเรียนดีๆ ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อยู่ใกล้เมืองไทยมาก ส่วนบทเรียนแสนเลวร้ายอยู่ไกลถึงละตินอเมริกา การกระโดดข้ามบทเรียนดีๆ ที่อยู่แค่เอื้อมไปไขว่คว้าหาบทเรียนแสนเลวร้ายจากแดนไกลในละตินอเมริกามาใช้ จะเกิดจากอะไรมิได้นอกจากความชังชาติ