ประกันสังคมเพิ่ม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ต้องลด

ประกันสังคมเพิ่ม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ต้องลด

การคำนวณค่ารายหัวของสำนักงานหลักประสันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นั้น

ถือเอาตัวเลขจำนวนประชากรทั้งประเทศ หักข้าราชการและสมาชิกครอบครัวข้าราชการที่ได้รับสวัสดิการข้าราชการ และหักพนักงานลูกจ้างองค์กรธุรกิจเอกชนที่มีประกันสังคม เพราะฉะนั้น ถ้ามีผู้สมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมเพิ่ม จำนวนประชาชนที่ สปสช.จะคิดเอามาคำนวณค่ารายหัวก็จะต้องลดเป็นสัดส่วนจำนวนเดียวกัน เพราะนี่คือการย้ายหลักประกันของคนๆเดียวกัน ที่ต้องใช้เพียงสิทธิใดสิทธิหนึ่ง ไม่สามารถใช้สิทธิซ้ำซ้อนทั้ง 2 สิทธิในเวลาเดียวกันได้

เมื่อไม่กี่วันก่อนอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่า รมต.แรงงาน ไปตรวจเยี่ยมสำนักงานประกันสังคม และเลขาธิการประกันสังคมคนใหม่รายงานว่าจำนวนสมาชิกประกันสังคมได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านคน หรือรวมทั้งสิ้นเป็นประมาณ 16.5 ล้านคนแล้ว ต่อมา เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้ออกมาแถลงรายละเอียดยืนยันว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นเพราะการขยายรับผู้ที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างแรงงานภาคเอกชนตาม ม.39 สำหรับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาก่อนแล้วลาออกไปได้กลับมาเข้าระบบใหม่จำนวน 1.63 ล้านคน และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างองค์กรธุรกิจเอกชน ตาม ม.40 ที่เข้ามาเป็นผู้ประกันตนเพิ่มถึง 3.14 ล้านคนทั้งนี้ นอกเหนือจากผู้ประกันตนปกติ ตาม ม.33 จำนวนประมาณ 11.68 ล้านคน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าย่อมมีผลกระทบกับจำนวนประชาชนรายหัวที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะต้องลดลงจาก 48 ล้านคน เหลือเพียง 44.55 ล้านคนโดยประมาณส่วนข้าราชการและสมาชิกครอบครัวที่ได้รับสวัสดิการข้าราชการ ตัวเลขน่าจะคงเดิมที่ 7 ล้านคนโดยประมาณ ไม่เปลี่ยนแปลงประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 3.14 ล้านคนนี้ น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อค่ารายหัว ที่ สปสช.ตั้งเบิกจากงบประมาณ ที่เคยตั้งเบิก 48 ล้านคน จะเหลือเพียง 44.55 ล้านคนเท่านั้นและน่าจะเป็นผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ที่กำลังพิจารณาในสภาฯ ขณะนี้ เพราะไม่ควรเป็นจำนวนเงิน 3,600 คูณ 48.00 ล้าน แต่ต้องเป็น 3,600 คูณ 44.55 ล้านนั่นหมายความว่างบประมาณของสปสช.ที่ตั้งเบิกนั้นจะต้องถูกตัดลดประมาณ 3,600 คูณ3,140,000 = 11,304,000,000 บาท เลยทีเดียวแล้ว สปสช.จะทำอย่างไรถ้าเงินหายไปกว่าหนึ่งหมื่นล้านในปีงบประมาณหน้านี้ ระบบงบประมาณของ สปสช.นี้เป็นระบบที่ไม่ยืดหยุ่น เพราะเป็นงบประมาณปลายปิด ถ้างบถูกปรับลด ไม่มีเงินจ่ายผู้ให้บริการ โรงพยาบาลรัฐที่เป็นผู้เล่นใหญ่ในภาคผู้ให้บริการจะทำอย่างไรจะะควักเงินบำรุงที่เคยมีมาสำรองจ่าย ก็คงไม่มีอีกแล้ว

ที่จริงตัวเลขผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมนี้ ไม่ใช่เพิ่งรู้ แต่หลายเดือนที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ออกมาตรการใหม่ๆ ดึงประชาชนเข้าระบบมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีประกันสุขภาพกับบริษัทประกัน เมื่อประกันสังคมเปิดกว้างขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะได้รับความมั่นคงในชีวิตจากประกันสังคม ที่น่าจะดีกว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าจะมีการร่วมจ่าย แต่พวกเขาก็ยินดี บางทีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.จะต้องคิดใหม่ ในการของบประมาณรายจ่ายที่มั่นใจได้ว่าจะมีเงินมากพอ

มีข้อเสนอว่า สปสช. น่าจะกลับมาทบทวนวิธีจัดการงบประมาณที่อิงค่ารายหัวจากประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม มาเป็นค่ารายหัวประชาชนที่ใช้บริการรักษาพยาบาลจริงปีละประมาณ 20 ล้านคนเป็นหลักในขณะที่ค่ารายหัวอาจจะต้องปรับขึ้นจาก 3,600 เป็น 10,000 บาท(โดยประมาณ) ต่อคนต่อปีณ ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เคยใช้บริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะย้ายออกไปอยู่กับประกันสังคมเพิ่มขึ้นหรือไม่เพราะถือเป็นสิทธิของพวกเขาที่ต้องการหลักประกันที่ดีกว่าซึ่งถ้าย้ายออกไปมากขึ้น สปสช.ก็จะยิ่งมีปัญหามากขึ้น