นวัตกรรม x ภาครัฐ: คานงัดพลิกโฉมประเทศไทย

นวัตกรรม x ภาครัฐ: คานงัดพลิกโฉมประเทศไทย

โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือภาครัฐ หรือแม้แต่ตัวเราเองทุกคนก็ต้องเปลี่ยนให้ทันโลกที่เปลี่ยนไป

สิ่งหนึ่งที่ช่วยพลิกองค์กรให้ทันความเปลี่ยนแปลง คือ นวัตกรรม แต่โดยทั่วไป นวัตกรรมมักเกิดขึ้นที่เอกชนและสตาร์ทอัพ เพราะแรงกดดันจากการแข่งขัน เทคโนโลยีที่เปลี่ยนและโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้เอกชนและสตาร์ทอัพสามารถทดลองผิดถูกได้ แบบที่เราได้ยินกันว่า “fail fast, learn fast, success faster” ล้มเหลวให้เร็ว เรียนรู้ให้เร็ว สำเร็จเร็วกว่า บางครั้งนวัตกรรมก็เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาสถาบันวิจัย ด้วยภารกิจที่ต้องแสวงหาความรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่แต่ในขณะที่ภาครัฐซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับประชาชน และก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกลับไม่ค่อยมีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากนัก ซึ่งสาเหตุก็มาจากกฎระเบียบภาครัฐที่เข้มงวด ไม่สามารถทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ ทั้งที่นวัตกรรมจะเกิดได้นั้นต้องคิดต่อยอดเรียนรู้จากความผิดพลาด

แล้วนวัตกรรมเกิดขึ้นที่ภาครัฐได้หรือไม่?นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นที่ภาครัฐได้ แต่จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้ทดลองและสามารถล้มเหลวได้ (Sandbox) ทั้งนี้นวัตกรรมภาครัฐที่ดีจะมีประโยชน์และสร้างผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการให้บริการประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว สร้างสรรค์ โดนใจ และมีต้นทุนที่ต่ำ

หลายประเทศทั่วโลกได้นำแนวคิด Innovation Lab มาใช้ในภาครัฐอย่างแพร่หลายเพื่อรับมือกับความท้าทายที่แตกต่างกันไปจะบอกว่าเป็นเทรนด์หรือทิศทางโลกก็ว่าได้ แนวคิดนี้นำเอาDesign Thinking เข้ามาเพื่อฟังเสียงในใจประชาชน ปรับปรุงบริการของรัฐโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงๆ รัฐจะให้บริการแบบเดิม คิดจากมุมภาครัฐอย่างเดียวต่อไปไม่ได้

ประเทศไทยเองก็จำเป็นต้องปรับตัวเช่นเดียวกับภาครัฐทั่วโลกแนวคิดการพลิกโฉมภาครัฐและบริการสาธารณะของไทยได้ถูกออกแบบและผลักดันจาก ดร.สุวิทย์เมษินทรีย์ ผ่าน “ห้องทดลองภาครัฐ” ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. Future Lab ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์แนวโน้มอนาคตที่จะเกิดขึ้นและจัดทำฉากทัศน์อนาคต (Scenario Building) เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้
  2. Policy Lab ทำหน้าที่ริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ทดสอบนโยบายและนวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ (Policy Testing) ตลอดจนถึงวางมาตรการเพื่อให้นโยบายนำไปสู่การปฏิบัติได้
  3. Government Lab จะทำหน้าที่ช่วยออกแบบบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงและตอบสนองความต้องการของประชาชน เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบรูปแบบการให้บริการ ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนและขยายผลให้มีการนำไปใช้
  4. การติดตามนโยบายสำคัญ (PMDU) เพื่อให้สามารถติดตามผลการทำงานเชิงนโยบายของรัฐบาล และสามารถระบุถึงปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้การทำงานนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว

สถาบันอนาคตไทยศึกษา(Thailand Future Foundation) ได้มีโอกาสร่วมผลักดันแนวคิดห้องปฏิบัติการภาครัฐทั้ง Future Lab, Policy Lab และ Government Labเรามองว่าห้องปฏิบัติการเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบราชการไทยให้สามารถรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตแน่นอนว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการสานพลังจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จขึ้นจริง และเรียนรู้ไประหว่างทางด้วยกัน

3 ปีที่ผ่านมา สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายวิชาการชั้นนำจากหลากหลายสถาบัน ในการขับเคลื่อนห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ “Government Innovation Lab” หรือเรียกสั้นๆว่า GovLab

โครงการนี้ได้คิดค้นต้นแบบนวัตกรรมภาครัฐ (Prototype) โดยมุ่งจะนำไปแก้ปัญหาทุกข์ร้อนหรือ Pain point ของประชาชนให้ได้ เพื่อปรับให้บริการภาครัฐดีขึ้น ลดความยุ่งยาก ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลาของประชาชนนักธุรกิจเวลามาติดต่อรับบริการ ต้นแบบหลายชิ้นจากโครงการนี้ก็กำลังขับเคลื่อนต่อยอดใช้งานจริงซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจหลายชิ้นเช่น การพัฒนาระบบการรายงานตัว 90 วันของชาวต่างชาติ จากเดิมที่ต้องเสียเวลาไปเข้าคิวรายงานตัวทุก 90 วัน ต่อไปนี้แค่เพียงกดแอพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือก็สามารถรายงานตัวได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแอพลิเคชั่นJobOrderช่วยอำนวยความสะดวกทางธุรกิจท่องเที่ยว ต้นแบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ SMEs และต้นแบบแพลตฟอร์มได้โอกาสช่วยผู้ด้อยโอกาสให้เป็นผู้ได้โอกาสช่วยให้ประชาชนทุกคนสามารถค้นหาสิทธิ์ โดยบูรณาการฐานข้อมูลและใช้บัตรประชาชนใบเดียวเช็คได้ทุกสิทธิ์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการพัฒนาต่อยอดให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง

จากความสำเร็จที่ผ่านมา ในปีนี้โครงการGovLabจึงจะเน้นการออกแบบนวัตกรรมภาครัฐที่เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยได้มีภาคีเครือข่ายมาร่วมคิดค้นปรับปรุงบริการภาครัฐระดับกรมจำนวน 10 กรมและในเชิงวาระการพัฒนาแบบบูรณาการอีก 3 วาระ ซึ่งมีโจทย์ที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีอยู่สูงในไทยจะแก้ไขหรือมีนวัตกรรมอะไรมาช่วยให้เป็นถนนปลอดภัยได้อย่างไร การแก้ปัญหายาเสพติด การส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการจะทำได้อย่างไร เป็นต้น

ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การมีส่วนร่วมของประชาชนข้าราชการ ฝ่ายวิชาการเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการภาครัฐที่สร้างผลกระทบสูงจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้า และยกระดับคุณชีวิตที่ดีให้กับประชาชนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต เราเชื่อว่า นวัตกรรมบริการภาครัฐ จะเป็น จุดคานงัดสำคัญที่จะสามารถพลิกโฉมประเทศไทย

โดย...

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ 

ประกาย ธีระวัฒนากุล 

สถาบันอนาคตไทยศึกษา 

Facebook.com/thailandfuturefoundation