8 มีนาฯ สตรีสากล ปืน-โรค(ที่ไม่ติดต่อ)กับ พ.ร.บ.ครอบครัวฯ

8 มีนาฯ สตรีสากล  ปืน-โรค(ที่ไม่ติดต่อ)กับ พ.ร.บ.ครอบครัวฯ

ตั้งแต่ พ.ค.2562 รัฐบาลประยุทธ์ ได้ทำให้สวัสดิภาพในครอบครัวที่หญิงไทยได้รับประกันใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2562

อย่างไรก็ดี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ไม่มีญัตติในประเด็นดังกล่าว

ตลอดมา 12 ปีเป็นความก้าวหน้าของสังคมไทยที่พ.ร.บ.ครอบครัวฯ 2550 ทำให้การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอาญา กำหนดมาตรการคุ้มครอง บำบัดเยียวยา เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่จากเดิมที่เอื้อให้ชายกระทำรุนแรงหญิง ซึ่งเมื่อชายอ้างว่า "เป็นเรื่องในครอบครัว" ก็ไม่มีใครกล้าช่วยผู้ถูกกระทำ แม้ตำรวจก็อาจไม่รับแจ้งความหรือลงบันทึกประจำวันได้แต่พยายามไกล่เกลี่ย ฝ่ายหญิงต้องกล้ำกลืนและโทษตัวเองจนท้ายที่สุดเป็นธรรมชาติของผู้มีพฤติกรรมกระทำความรุนแรงในครอบครัวจะยับยั้งตนเองไม่ได้ มีแต่กระทำหนักข้อขึ้น ไม่ว่าจะในประเทศใดที่เรื่องยืดเยื้อเช่นนี้มักจบลงด้วยฝ่ายหญิงเสียชีวิต ขณะเขียนอยู่นี้ ( 20 ก.พ.) อดีตนักกีฬารักบี้ในออสเตรเลียได้จุดไฟในรถเผาทั้งเป็น ภรรยาที่เขาคุกคามมาหลายปีถึงแก่ชีวิตพร้อมลูก 3 คนแล้วแทงตัวตาย หญิงเสียชีวิตเพราะถูกทำร้ายโดยคู่ชีวิต โดยเฉลี่ย 1 คนต่อสัปดาห์

คดีสะเทือนขวัญในกรุงเทพฯ เมื่อ 18 ก.พ.อดีตสามีบุกยิงอดีตภรรยาที่เพิ่งหย่าร้างกันเมื่อ 11 ก.พ.และได้โพสต์ภาพใบหย่าในโซเชียลมีเดีย มีประวัติที่ฝ่ายชายข่มขู่ทำร้ายครอบครัวฝ่ายหญิงยืดเยื้อมาก่อน

สถิติทั่วโลกตรงกัน ความรุนแรงในครอบครัวถึงขั้นเสียชีวิตเกิดจากชายกระทำต่อหญิงในสัดส่วนที่มากกว่าหญิงกระทำต่อชายอย่างห่างกันลิบลับ องค์การอนามัยโลกประมาณว่ามากกว่า 1 ใน 3 มของสตรีในโลกปัจจุบันถูกความรุนแรงในครอบครัวคุกคาม แม้(ยัง)ไม่ถึงชีวิต เกิดการบาดเจ็บทางกาย อาจถึงพิการ การบาดเจ็บทางใจมีมากล้น ตั้งแต่เสียความมั่นใจ เสียโอกาสพัฒนาตนเองจนถึงขึ้นเสียอาชีพยิ่งกว่าถูกความหิวหรือโรคใดๆ คุกคามเสียอีก

ที่ตรงกันทั่วโลกอีกประการหนึ่งคือ กรณีหญิงทำร้ายชายถึงชีวิต มักเป็นอุบัติเหตุที่ฝ่ายหญิงป้องกันตัว มีบ้างที่ลงมือก่อนเพราะถูกทำร้ายจนคับแค้นใจ

ประเทศจีนที่ให้ความสำคัญความมั่นคงและเศรษฐกิจระดับชาติมากกว่าประเด็นหญิงชาย "เรื่องในครอบครัว" แต่ในที่สุดเมื่อปี 2559 ก็ผ่านกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว มีผลบังคับใช้เดือนมี.ค.ปีนั้น คดีโด่งดังนางลี่ หยานมณฑลเสฉวน เมื่อปี 2557 ที่ทนายหญิง กัว เจียนเหม่ย ตั้งใจใช้กรณีนี้ต่อสู้ในศาลว่าเป็นการป้องกันตนเองเพราะถูกสามีทำร้ายรุนแรง มีส่วนสร้างมติสาธารณชนอย่างมาก หญิงฆ่าสามีในจีนโดยทั่วไปต้องโทษประหาร กรณีนี้ นาง ลี่ หยานถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต มีโอกาสได้รับทัณฑ์บน (parole)ปล่อยตัว

โดยที่ฝ่ายชายเป็นผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าหญิง มีโอกาสเข้าถึงอาวุธโดยเฉพาะปืนมากกว่า นอกจากการเข้มงวดการเข้าถึงอาวุธ ต้องปกป้องทันทีผู้ตกเป็นเหยื่อรับอันตราย นั่นคือคู่ชีวิตและลูก

แม้ตลอดมาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ครอบครัว 2550 จะไม่สมบูรณ์โดยเฉพาะมาตรการบำบัดซึ่งควรเป็นวาระของกระทรวงสาธารณสุขอย่างยิ่ง แต่การที่ผู้กระทำความรุนแรงถูกปรามถูกยับยั้งทันทีด้วยกระบวนการยุติธรรม เป็นการคุ้มครองถูกจุดอย่างยิ่งเมื่อหญิงตัดสินใจเดินเข้าหาการช่วยเหลือจากรัฐ

การ ถอยหลังเข้าคลองด้วยการผ่านพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 อยู่ที่หันไปเน้นการไกล่เกลี่ย ส่งผลให้เกิดการย้ายอำนาจในการตัดสินใจจากตำรวจมาอยู่ในมือเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ซึ่งกลไก พม.ในระดับอำเภอจังหวัดทั้งด้านคุณภาพและปริมาณบุคลากรประจักษ์ชัดว่าด้อยและไม่พร้อมรับมือกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติพรวดพราดยกมือให้ผ่าน

ยังดีที่เครือข่ายเอ็นจีโอด้านครอบครัวสิทธิสตรีและเด็กคัดค้านชี้แจงแข็งขัน จึงได้มีการออกพระราชกำหนด 23 ส.ค.2562 ชะลอการใช้พ.ร.บ.ครอบครัวฯ ฉบับนี้ โดยในระหว่างที่ยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๒ แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 ยังคงมีผลใช้

ก.สาธารณสุขที่ผลงานโดดเด่นบริการสุขภาพถ้วนหน้าถึงขั้นเป็นกรณีตัวอย่างขององค์การอนามัยโลก ตลอดจนได้รับการจัดลำดับที่ 6 ของโลกเมื่อเร็วๆ นี้ในการรับมือโรคระบาด ควรเสนอวาระแห่งชาติเรื่องโรค(ที่ไม่ติดต่อ)กระทำความรุนแรงในครอบครัว ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายสุขภาพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ที่ประกาศเลิกรับนายร้อยตำรวจหญิงแต่ยังไม่มีใครร้องเรียน) กระทรวงยุติธรรม และ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ

ก.สาธารณสุขของเราโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ได้เก็บสถิติการบาดเจ็บและความรุนแรงในประเทศมาตั้งแต่ปี 2550 แยกประเภทต่างๆ รวมทั้งความรุนแรงในครอบครัวที่หญิงถูกกระทำมากกว่าชาย ตลอดจนเสนอการบำบัด การลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ อาวุธ อีกทั้งพยายามดำเนินนโยบายสุขภาพเชิงรุกรู้ทัน(Health literacy) ซึ่งจะเชื่อมโยงสู่การรู้ทันสื่อกรณีความรุนแรงในครอบครัวได้ รวมทั้งการถ่ายภาพเพื่อเป็นหลักฐาน ไม่โพสต์ข้อมูลที่อาจยั่วยุความรุนแรงเป็นต้น

ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลใด การพิจารณากฎหมายส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยเร็ว จะต้องพิจารณาร่างกฎหมายครอบครัวที่เสนอโดยเครือข่ายหน่วยงานเอ็นจีโอด้านครอบครัวสิทธิสตรีและเด็กเข้าประกอบหรือทดแทน พ.รบ.ครอบครัวฯ 2562 ที่วิสัยทัศน์ล้าหลังไร้ข้อมูลทันสมัย.