ธุรกิจ “บริการ” โดยคนต่างด้าว

ธุรกิจ “บริการ” โดยคนต่างด้าว

หากพิจารณาบทนิยามภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด่าว 2542 จะพบเพียงว่า ธุรกิจ “บริการ” ปรากฏเพียงมาตรา 4 ภายใต้บริบทของคำว่า “ธุรกิจ”

หมายความว่า “การประกอบกิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรมการบริการหรือกิจการอย่างอื่น อันเป็นการค้า” แต่กลับไม่ปรากฏความหมายที่แน่ชัดว่า “บริการ” หมายถึงอะไร

จึงเกิดความไม่ชัดเจนในแนวทางการตีความว่าอะไรคือกิจการบริการที่ต้องห้ามตามกฎหมายเนื่องจาก กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ “บริการ”เป็นกิจการต้องห้ามท้าย พ.ร.บ. ตาม อนุมาตรา 21 จึงต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจตามมาตรา 8 (3) ที่ว่า “ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่คนไทยยังไม่มี ความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีสามเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”

ทั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของTDRI ที่มองว่า ธุรกิจ“บริการ” มีความหมายที่ค่อนข้างครอบจักรวาล ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน อาทิ การผลิตสินค้าหนึ่งอาจมีบริการแทรกอยู่เพื่อก่อให้เกิดรายได้ ยกตัวอย่าง การผลิตเครื่องปรับอากาศพร้อมบริการหลังการขาย เราสามารถจำแนกธุรกรรมออกเป็น

(1)ผลิตเครื่องปรับอากาศเพื่อจำหน่าย อาจถือว่าเป็นการ “การค้าปลีก” ตามอนุมาตรา (14) (ผลิตเพื่อจำหน่าย มิใช่ การ “รับจ้างผลิต” ที่จะถือเป็นธุรกิจ “บริการ” (21) ตามข้อหารือของกรมพัฒฯ ประจำเดือนก.พ. 2550 เรื่อง: การพิจารณาว่าลักษณะของธุรกิจเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย หรือการรับจ้างผลิต)

(2)บริการรับติดตั้งน่าจะถือเป็นธุรกิจต้องห้าม การ”บริการ”(21) ตามบัญชี 3 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เท่ากับว่า คนต่างด้าวมีหน้าที่ขออนุญาตประกอบ ‘ธุรกิจบริการ’ ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายนั้น กฎหมายเปิดช่องว่า ให้ (บริษัท) ต่างด้าวต้องมีทุนจดทะเบียน (ตามความเป็นจริง/ชำระแล้ว) ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท (ต่อหนึ่งกิจการ) ย่อมสามารถกระทำได้เลย (พณ 0803.03/411ลงวันที่ 27เม.ย. 49 หน้า 5 (13))

ด้วยเหตุนี้ (ส่วนตัว) ผมเลยมองว่า เหตุผลตามกฎหมาย ที่ระบุว่า “บัญชีสาม:ธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนตางด้าว” จึงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบันดังที่ TDRI ตั้งข้อสังเกตไว้ ประกอบกับในบริบทของเศรษฐกิจที่ควรต้องเปิดกว้างและเสรี ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และจะช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้า-บริการ และเมื่อมองจากผลประโยชน์สูงสุด ผู้บริโภคย่อมได้รับผลประโยชน์ที่สูงที่สุด ดังนี้จึงนำไปสู่ข้อเสนอแนะส่วนตัวที่ว่า “เมื่อใดรัฐจะเปิดเสรีการบริการแก่คนต่างด้าว” เสียที

อนึ่ง ท่านผู้อ่านบางท่านอาจมีความเห็นแย้งได้ครับ แต่ผมยอมรับว่าบทความฉบับนี้เกิดจากแนวคิดทางวิชาการทางเสรีนิยมสุโต่ง

หากรัฐต้องการจะสงวนธุรกิจ “บริการ” เป็นธุรกิจต้องห้ามเพราะเหตุผลที่ว่า “คนไทยยังไม่พร้อมจะแข่งขัน” ผมเกรงว่าจะไม่ใช่ เพราะเรื่อง “บริการ” เราไม่เคยเป็นที่สองรองใคร หากเศรษฐกิจไทยจะก้าวไกล ฝากธุรกิจ “บริการ” นี้ไว้พิจารณา #ฝากไว้ให้คิด

โดย...

นิติภัทร หอมละออ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร