ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา:ที่เรียกเกินตกเป็นของใคร

ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา:ที่เรียกเกินตกเป็นของใคร

การให้กู้ยืมเงินประโยชน์ที่ผู้ให้กู้จะได้รับคือดอกเบี้ย แต่การคิดดอกเบี้ยก็ต้องเป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ จะคิดตามอำเภอใจไม่ได้

 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.) มาตรา 654 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี แต่ถ้าเป็นการให้กู้ยืมเงิน ของสถาบันการเงิน จะเป็นไปตาม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โดยตามมาตรา 4 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รมว.คลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ย ที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ ตามมาตรา6 บัญญัติว่า เมื่อรัฐมนตรีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา4 มิให้นำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ.มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 4 ซึ่งหมายความว่าอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดเกินกว่าร้อยละ 15 ก็ได้

การให้กู้ยืมเงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ตามที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง หรือเกินกว่าอัตราที่ รมว.คลังกำหนดตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 นอกจาก เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นโมฆะแล้ว ยังเป็นความผิดตามกฎหมาย คือพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งตราขึ้นบังคับใช้โดยมีเหตุผลสำคัญคือ การให้กู้ยืมเงินโดยอัตราดอกเบี้ยสูงเกินอัตรานั้น ย่อมเป็นทางเสื่อมประโยชน์ของบ้านเมือง สมควรจะป้องกันกันราษฎรมิให้ต้องเสียดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้

การกระทำที่เป็นความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามพ.ร.บ. โดยสรุปคือ ให้กู้ยืมเงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือกำหนดข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับจำนวนเงินกู้ในสัญญากู้เงินเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา หรือนอกจากเรียกดอกเบี้ยแล้วยังเรียกประโยชน์อย่างอื่นจนเห็นได้ว่าประโยชน์ได้รับมากเกินส่วนอันสมควร ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ใช้บังคับมาจนถึงต้นปี 2560 ก็ถูกยกเลิกเมื่อมีการตรา พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ออกใช้บังคับแทน โดยกำหนดลักษณะความผิดไว้คล้ายกับที่บัญญัติในพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 โดยกำหนดโทษเพิ่มขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกำหนดความผิดของผู้ได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องจากบุคคลอื่นโดยรู้อยู่ว่าเป็นสิทธิที่ได้มาจากการกระทำความฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และใช้สิทธินั้นหรือพยายามถือเอาประโยชน์แห่งสิทธินั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

*แนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา*

เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นโมฆะ  คำพิพากษาศาลฎีกาที่2333/2532 วินิจฉัยว่าหนี้เดิมซึ่งจำเลยกู้เงินโจทก์ โดยมีดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน ดอกเบี้ยทั้งหมดย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเฉพาะต้นเงินเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 966/2534 เดินตามแนวเดียวกัน คือวินิจฉัยว่าว่า สัญญากู้ระบุให้ตกลงคิดดอกเบี้ยร้อยละ1.5 ต่อเดือน อัตราดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี และต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด

ยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตรา ถือเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ  คำพิพากษาศาลฎีกาที่101/2544 วินิจฉัยว่าการที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิได้รับคืนดอกเบี้ยส่วนที่ได้ชำระไปแล้ว และจะนำไปหักกับต้นเงินไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2545 เดินตามแนวเดียวกัน

โจทก์เป็นผู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลฎีกาที่5376/2560(ประชุมใหญ่) วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน จำเลยชำระดอกเบี้ยเดือนละ 2.500 บาทให้โจทก์เป็นเวลา 3 เดือนเป็นเงิน 7,500บาท ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้โจทก์เกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้าม ตามป.พ.พ. มาตรา 411 หาอาจเรียกร้องให้คืนดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกคืนดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระแล้ว 7,500 บาทไปหักเงินต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาต่อมาก็ถือตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาประชุมใหญ่ข้างต้น คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 930/2561 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยกู้เงินจากโจทก์ 3 ล้านบาท และรู้ว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดมาตลอดอันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ.มาตรา654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมเป็นโมฆะ การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้าม ตามป.พ.พ.มาตรา 411 ไม่อาจเรียกร้องให้คืนดอกเบี้ยที่ชำระแล้วคืนได้ แต่เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่ชำระแล้วไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน