ปรับยุทธศาสตร์ เพื่อแสวงโอกาสในอนาคต

ปรับยุทธศาสตร์ เพื่อแสวงโอกาสในอนาคต

สำหรับผู้บริหารและผู้ประกอบการองค์กรจำเป็นต้องสร้างภาพสถานการณ์จำลองในอนาคต (Scenario Planning) เพื่อมากำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่

ที่ต้องสะท้อนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน (Case for change) การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งโอกาสและอุปสรรค (SWOT analysis) แนวโน้มโลก (Global trend) และความต้องการของลูกค้าและตลาด โดยหลังจากการประเมินสิ่งต่อไปนี้คือ (1) Strategic Intelligence Scanning (2) Foresight Framework (3) Scenarios (4) Strategic Opportunities และ (5) Strategic Options/Issues เรามาดูตัวอย่างกลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนี้

จากการคาดการณ์อนาคตที่เล็งเห็นว่าคอมพิวเตอร์ไม่ตอบสนองกับพลวัตรและการเคลื่อนไหว (Mobility) ของคนบนโลก ส่งผลให้ Apple Computer Inc. ปรับแนวคิดทางธุรกิจจากการขายคอมพิวเตอร์ สู่แพลทฟอร์มใหม่ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคต พร้อมกับเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Apple Inc. ซึ่งสื่อถึงแนวโน้มต่อไปในโลกนี้ที่กำลังมุ่งสู่ Digital Content ผ่านอุปกรณ์ทุกชนิดที่มีสมองกลฝังตัว ขนาดเล็ก ไร้สาย เคลื่อนที่ไปได้ทุกหนแห่ง และเชื่อมต่อสื่อสารกันได้หมด

หน่วยงานด้านไปรษณีย์ในประเทศต่างๆ จึงต้องเปลี่ยนรูปแปลงร่างจาก Postal service (ส่งข้อความ) สู่ Logistic service การส่งพัสดุสิ่งของขนาดเล็กที่เติบโตหลายเท่าตัวจากการค้าออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่ากิจการไปรษณีย์จะมีสาขามาก มีข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งของทุกบ้าน ซึ่งเป็นความแข็งแกร่งทางธุรกิจแต่เมื่อเทคโนโลยีแผนที่ดิจิทัลอย่าง Google Map เป็นที่รู้จักและใช้งานอย่างแพร่หลาย ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ อาทิ การปักหมุดของสถานีบริการน้ำมัน โรงแรม โรงพยาบาล ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ ผนวกเข้ากับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างสภาพการจราจรบนท้องถนน ทำให้ใครก็ตามก็สามารถเข้ามาสู่ธุรกิจขนส่งสินค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีนำทาง (Navigation system) ระบบติดตามยานพาหนะ (Trace and Track)

จาก pain point ของการเดินทางของคนเมือง ที่ทำให้เชนร้านอาหารดังต้องพัฒนาระบบบริการส่งสินค้า (Delivery system) ของตัวเอง แม้ว่าจะช่วยขยายฐานลูกค้าแต่ก็เป็นภาระไม่น้อย จนเกิดตัวกลางในการให้บริการขนส่งทุกรูปแบบ จนถึงการส่งอาหารด่วนภายในไม่เกิน 30 นาที ข้อมูลที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งจากผู้ให้บริการส่งอาหารรายใหญ่ในไทยแห่งหนึ่งบอกว่า ระยะทางใกล้ที่สุดที่มีการใช้บริการสั่งอาหารแบบส่งถึงที่คือ 50 เมตร ข้อมูลขนาดใหญ่ยังช่วยบอกเราว่า ร้านค้าใดมียอดการสั่งมากที่สุด โซนใดมีการสั่งมากที่สุด อาหารประเภทใดมีการสั่งบ่อยที่สุด และอีกมากมายหลายที่สุดที่เราสามารถจะวิเคราะห์ออกมาได้จากข้อมูลรายการสั่งซื้อที่ผ่านเข้ามาในระบบ

แม้แต่ร้านสะดวกซื้อที่เข้ามาแทนที่ร้านโชว์ห่วยแบบเดิมก็ยังต้องปรับตัว เมื่อคนไม่ได้ต้องการแค่ความสะดวกในการซื้อสินค้า หากแต่เป็นความสะดวกในทุกบริการ นิยามความหมายใหม่ของธุรกิจจึงเปลี่ยนไป ไม่ใช่ “ขายสินค้า” หากแต่เป็น “ขายความสะดวก”

เมื่อธนาคารไม่ใช่ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่อยู่กลุ่มเดียวอีกต่อไป ระบบชำระเงิน (payment gateway) ถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดทางธุรกิจที่โยงใยไปถึงทุกที่ จาก Cash and card สู่ Code and crypto เงินสดและบัตรพลาสติกจะค่อยๆหายไปและใช้น้อยลง สิ่งที่มาแทนที่ในยุคนี้คือรหัสในการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะ QR Code รหัสบัตรเครดิต หรือเงินสกุลดิจิทัลอย่าง Crypto currency กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์จึงเข้ามาแทนที่กระเป๋าจริงที่คนพกพา (e-Wallet)

หลากหลายผู้ผลิตและแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบทางการเกษตร กำลังนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างอาหารแบบใหม่ (Food for Future) กระบวนการผลิตเดิม Food processing ขยับปรับไปสู่ Food synthesizing ด้วยการวิเคราะห์ถึงคุณค่าทางอาหารที่มนุษย์ต้องการ แล้วนำมาสกัดคัดแยกให้อยู่ในรูปแบบที่เสริมเติมได้ง่าย พกพา และเก็บรักษาได้นาน เพราะคนไม่ได้ต้องการกินเพื่ออิ่ม หากแต่ต้องการคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่า

ซุปเปอร์มาร์เก็ตเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกในการชำระเงินเช่นกัน อาทิ ระบบสแกนสินค้าทั้งตะกร้า จากปัญหาเดิมที่ต้องเตรียมช่องทางการชำระเงินไว้หลายช่อง เพราะต้องใช้เวลาในการสแกนสินค้าแต่ละชิ้นสำหรับลูกค้าแต่ละราย ทำให้ใช้เวลานาน คิวยาว การเพิ่มจำนวนช่องจึงกลายเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันเพียงแค่ลูกค้านำตระกร้าสินค้าไปวางในช่องชำระเงิน ระบบจะสแกนสินค้าที่อยู่ในตระกร้าและแสดงรายการสินค้าและราคาทุกชิ้นบนจอ เมื่อลูกค้าตรวจสอบว่าครบถูกต้องแล้ว ก็สามารถชำระเงินได้ทันที โดยมีวิธีการชำระเงินครอบคลุมในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินสด บัตรเครดิต และอื่นๆ

จนถึงร้านค้าที่ไม่มีพนักงานบริการอย่าง Amazon Go ที่นำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Face recognition) มาใช้ ทำให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์แปลกใหม่ในการจับจ่ายซื้อของ เพราะลูกค้าของร้านจะต้องลงทะเบียนแสดงตัวตน บัญชีการตัดเงิน และใบหน้าของตนเองก่อน เมื่อเดินผ่านประตูร้านจะถูกสแกนหน้า ทำให้ระบบรู้ว่าลูกค้ารายนี้เข้ามาเลือกซื้อสินค้า และเมื่อได้สินค้าตามที่ต้องการแล้ว สามารถเดินออกไปจากร้านได้เลย โดยระบบจะดำเนินการตัดเงินเองอัตโนมัติ เป็นร้านที่ไม่ต้องมีคนดูแลร้านนั่นเองซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาในไทยแล้ว คงต้องใช้เวลาซักพักจึงจะแพร่หลาย