เตรียมสู่การประชุมสุดยอดผู้นำพุทธศาสนานานาชาติ ที่อินเดีย !!

เตรียมสู่การประชุมสุดยอดผู้นำพุทธศาสนานานาชาติ ที่อินเดีย !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา กลับมาจากร่วมงานมาฆบูชาที่เวฬุวันมหาวิหาร อินเดีย

และการไปเยี่ยมเยียนโครงการ Dhamma Vinaya Monastery of Pune ..ซึ่งเป็นการสร้างมหาวิหารหรือวัดของชาวพุทธในอินเดียที่นครปูเน่ รัฐมหาราษฎร์ ได้มีอาการไข้หวัด เจ็บคอ ตามแบบไวรัสอินเดีย จึงต้องเดินทางมาพักร่างกาย ผ่อนคลายจิตใจที่ พระธาตุภูหว้ารัตนคีรี บนภูเขาต้นน้ำกลางเกาะภูเก็ต สัปปายะสถานที่น่ายินดียิ่ง จนอาการเริ่มดีขึ้น เมื่อเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ จึงได้ฤกษ์งามยามสะดวกต่อการโคจรบิณฑบาตและแสดงธรรมฉลองศรัทธาญาติโยมชาวภูเก็ตที่เชิงเขาดังปกติ

ในขณะที่พักผ่อนอยู่บนภูเขา นอกจากเจริญภาวนาตามปกติแล้ว ยังมีงานเขียนบทคัดย่อ (Abstract) ให้กับองค์กรพุทธศาสนานานาชาติ (International Buddhist Confederation หรือ IBC) ในหัวข้อเรื่อง “พระโอวาทปาติโมกข์ กับการตอบสนองของคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ท่ามกลางการเผชิญกับความท้าทายของกระแสโลกในปัจจุบัน” เพื่อรวมเข้าเล่มหนังสือที่จะมอบให้กับผู้นำสูงสุดขององค์กรสงฆ์ในแต่ละนิกายของพุทธศาสนาจากประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสุดยอดในครั้งนี้ ในชื่อ Global Buddhist Summit ที่จัดให้มีขึ้นในระหว่าง 25-27 มีนาคม 2563 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติราชคฤห์ นาลันทา รัฐพิหาร อินเดีย โดยการสนับสนุนของรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดียและประเทศพุทธศาสนาทั่วโลก ซึ่งนับเป็นการจัดประชุมใหญ่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปีในอินเดีย ดังที่มีองค์ดาไลลามะ พระสังฆราชา ผู้นำจิตวิญญาณทางพุทธศาสนาจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุม โดยอาตมาได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมร่วมกับผู้นำองค์กรพุทธศาสนา ในฐานะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวพุทธ

เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นองค์บรรยายในกรอบของเรื่อง Response To Contemporary Challenges จึงเลือกที่จะนำเสนอเรื่องดังกล่าว ด้วยหวังให้เกิดการกระตุ้นเตือนต่อคณะสงฆ์ในทุกนิกาย ไม่ว่าจะเป็นพุทธเถรวาทหรือพุทธมหายาน ได้กลับคืนมาให้ความสำคัญกับพระโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเปรียบดุจธรรมนูญแม่บทในพระพุทธศาสนา ที่แสดงหลักการ อุดมการณ์ ข้อปฏิบัติ ไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงของพุทธศาสนาที่ต้องสืบเนื่องต่อไปเบื้องหน้า โดยอาศัยสังฆมณฑลหรือสถาบันสงฆ์ที่ต้องเป็นหนึ่งเดียวกันดังสมัยพุทธกาล เพื่อการทำงานเผยแผ่พระธรรมวินัยไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ ในความเป็นเอกธรรมของพระธรรมคำสั่งสอนและวินัยบัญญัติเป็นอย่างเดียวกัน

แน่นอน ! การจะทำให้องค์กรสงฆ์แต่ละนิกายดำเนินไปอย่างเป็นแบบแผนเดียวกันในพระธรรมวินัยนั้น คงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่ายกภูเขาหิมาลัยลงทิ้งมหาสมุทร แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ต่อการทำให้คณะสงฆ์แต่ละนิกายคืนกลับสู่ต้นน้ำของสายธารแห่งพระธรรมวินัย อันได้แก่ ความเป็นหนึ่งเดียวของพระโอวาทปาติโมกข์

จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของพระโอวาทปาติโมกข์ ที่ทรงแสดงในวันมาฆบูชา ท่ามกลางพระสงฆ์สาวกล้วนเป็นพระอรหันต์ 1,250  รูป ก่อนเข้าสู่พรรษาที่ 2 ของพระองค์ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ด้วยพระพุทธประสงค์เพื่อการจัดตั้งองค์กรพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง มั่นคง โดยเลือกเวฬุวันมหาวิหารเป็นมงคลสถาน ประดิษฐานหัวใจพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ก่อนจะธรรมยาตราไปทั่วชมพูทวีป

จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงแสดงให้คณะสงฆ์ทุกนิกายยอมรับว่า หากต้องการให้มีคุณสมบัติเป็นคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านทั้งหลายจะต้องเคารพและถือปฏิบัติตามหลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และข้อปฏิบัติ 6 ที่ปรากฏในพระโอวาทปาติโมกข์นั้น นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะมิฉะนั้น การเป็นคณะสงฆ์หรือสถาบันสงฆ์ตามคำกล่าวอ้างนั้น ย่อมเสื่อมไปจากความเป็นองค์กรของพุทธศาสนาโดยปริยาย .. เสมือนกับพระภิกษุทุศีลที่ละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณณกรรม แม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นสรณะ ในพระธรรมวินัยนี้ ก็ย่อมไร้คุณค่า

การนำเสนอเรื่องดังกล่าวในครั้งนี้ต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำสงฆ์จากทั่วโลก จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ อย่างน้อย ๆ เอกสารข้อเขียนที่จัดทำขึ้นนำเสนอต่อที่ประชุมรวมลงเป็นเล่ม จะเดินหน้าต่อไปในโลกของสังคมไร้พรมแดน เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นเตือนต่อมสำนึกของคณะสงฆ์ทุกนิกาย ที่จะต้องเผชิญกับนานาปัญหาในท่ามกลางกระแสโลกที่ Disruption อยู่ทุกขณะในทุก ๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้เรื่องคตินิยมทางศาสนา

การส่งสัญญาณถึงทุกคณะสงฆ์ในทุกนิกายให้คืนกลับสู่ถิ่นฐานบรรพชน โดยอาศัยร่มเงาของพระโอวาทปาติโมกข์ เพื่อความสงบสุข ร่มเย็นและเพื่อความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของสังฆมณฑล จึงเป็นเรื่องที่ควรจะกระทำเป็นที่สุด โดยเฉพาะการสะท้อนให้เห็นถึงความจริงของความอ่อนแอแห่งสถาบันสงฆ์ ที่หลากหลายชาติพันธุ์ มากนิกาย จนไร้ความเป็น เอกภาพ ไม่มีความเป็นเอกธรรมอันเสมอกัน แม้จะอ้างว่าอยู่ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนาที่มีพระผู้มีพระภาคองค์เดียวกัน จึงเป็นงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง เพื่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป ให้กลับคืนมาสู่ ความเป็นพระพุทธศาสนาในพระผู้มีพระภาคเจ้าที่แท้จริง ดุจดังสมัยพุทธกาล !!

 

เจริญพร