สังคมป่วย การเงินครอบครัวก็ป่วยด้วย

สังคมป่วย การเงินครอบครัวก็ป่วยด้วย

ดิฉันเคยเขียนเรื่อง “เตือนสติ” เพื่อเตือนไม่ให้สังคมไทยวิ่งตามวัตถุนิยมมากจนเป็นอันตรายไปเมื่อห้าปีที่แล้ว

มาถึงวันนี้ อันตรายนั้นมาถึงแล้วค่ะ สังคมเรากำลังป่วย โดยมีวัตถุนิยมเป็นสาเหตุ และมีสื่อสังคม หรือโซเชียลมีเดีย เป็นตัวกระตุ้นและตัวเร่ง

โซเชียลมีเดียมีประโยชน์ในการทำให้เราสามารถติดต่อกันได้จากเดิมเป็นรูปแบบหนึ่งต่อหนึ่ง กลายเป็น หนึ่งต่อหลายๆคน ทำให้สามารถสื่อสารแบบกลุีมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  แต่ก็มีโทษมหันต์หากเราใช้ผิด ดังที่เราประสบพบเห็นกันเมื่อเร็วๆนี้

จากข้อมูลที่ดิฉันไปค้นหามา ในจำนวนประเทศที่มีการใช้เฟซบุ้คทั้งหมด (ข้อมูลจาก Statista) ณ เดือน มกราคม 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 มีผู้ใช้งานที่อายุมากกว่า 13 ปี จำนวน 47 ล้านคน แต่เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนของประชากร (ข้อมูลจำนวนประชากร ณ 20 กุมภาพันธ์ 2563 จาก Worldometer)แล้ว เรามาเป็นอันดับหนึ่งของโลกค่ะ  โดยมีประชากรถึง 67.43% ของไทยเป็นผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียรายนี้

ราไม่ควรดีใจที่ยอดผู้ใช้สื่อโซเชียลบ้านเราเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพราะหากไปดูให้ลึกๆว่าใช้เพื่ออะไร จะพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ใช้สื่อโซเชียล ใช้อินเตอร์เน็ต และใช้เทคโนโลยี เพื่อ ความบันเทิงเป็นหลัก  ไม่ได้ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการนำเทคโนโลยีมาใช้

น่าเศร้าใจจริงๆค่ะ

และวันนี้ ผลพวงของการถูกครอบงำโดย วัตถุนิยม รักความสวยงาม อยากแสดงออก อยากมียอดไลค์ ยอดแชร์มากๆ ทำให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจหลายเหตุการณ์ และเกิดการเลียนแบบที่ผิดๆกันขึ้น

เหตุการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของสภาพจิตใจของคนไทย ที่ไม่ได้ถูกฉีดวัคซีน ความเหมาะสม ถูกต้อง มาตั้งแต่เด็ก ทั้งจากผู้ใหญ่ในครอบครัว และจากโรงเรียน ซึ่งเริ่มจากพ่อแม่ยุคปัจจุบัน (อายุ 25 ถึง 40 ปี) ที่เป็นกลุ่ม “วัตถุนิยม” จนเกินไป จึงไม่สามารถสั่งสอนลูกได้ เมื่อเด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่ ห่วงแต่เรื่องความสวยความงาม ห่วงแต่การถ่ายรูปไปอวดผู้อื่นในโลกโซเชียล เด็กก็ยิ่งไม่มีใครมาฉีดวัคซีน “ความเหมาะสม ถูกต้อง” ให้  ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป สังคมไทยในอีก 15-20 ปีข้างหน้า ก็จะยิ่งเปราะบางกว่านี้

สื่อต่างๆน่าจะช่วยกันด้วยนะคะ เมื่อก่อนเวลาอ่านข่าวออนไลน์เนื้อข่าวทุกย่อหน้าจะมีโฆษณาแทรก เดี๋ยวนี้เนื้อข่าวมีทั้งหมด 5 บรรทัด ที่เหลือเป็นโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ความงามสิบกว่าอัน คือจริงๆแล้วไม่ต้องเข้าไปอ่านเนื้อข่าวก็ได้ เพราะเนื้อข่าวเดี๋ยวนี้เหมือนพาดหัวข่าวเสียมากกว่า และโฆษณาบนสื่อโซเชียลทั้งหลาย ดูจะเกินจริงไปทั้งนั้น จนดิฉันไม่แน่ใจว่าเรามีกฎหมายเซ็นเซอร์โฆษณาในโลกออนไลน์หรือไม่ ทำไมโฆษณาบนสื่อสาธารณะ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ จึงถูกเซ็นเซอร์ ทำไมโฆษณาบนสื่อโซเชียลไม่ถูกเซ็นเซอร์ ดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกัน

เมื่อการแสดงให้สังคมรับรู้ในสิ่งที่ตนเองทำมีความสำคัญอย่างยิ่ง คนก็จะทุ่มเททรัพยากรไปกับการจัดหาวัตถุต่างๆที่จะทำให้ตนเอง “ดูดี” “ดูเก่ง” “เป็นพระเอก-นางเอก” ในภาพที่ปรากฏในสื่อโซเชียล และทำจนเกินตัว เกินฐานะ ทำให้เดือดร้อนเรื่องการเงิน ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน วนเวียนอยู่ตรงนี้ จนทำให้เกิดเรื่องน่าเศร้าตามมา

สิ่งที่ต้องสอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างเร่งด่วน คือเรื่องของ เส้นแบ่งระหว่าง ความเป็นส่วนตัวกับ สาธารณะ บางเรื่องเป็นเรื่องที่ควรจะอยู่ในครอบครัว แต่สมัยนี้ไปปรากฏในที่สาธารณะผ่านสื่อโซเชียล เช่น การถ่ายภาพช่อดอกไม้ที่ได้รับในวันวาเลนไทน์ การถ่ายภาพใบหย่า ทะเบียนสมรส แม้กระทั่งรูปในห้องคลอด ฯลฯ เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาเห็น เขาอาจเกิดความรู้สึกได้หลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ถ้าเป็นความรู้สึกด้านบวก ก็ดีไป แต่ถ้าเป็นความรู้สึกด้านลบ เช่น หึงหวง โกรธแค้น อิจฉา เสียหน้า ฯลฯ อาจก่อให้เกิดสิ่งไม่พึงประสงค์ตามมา

เรื่องส่วนตัว ควรเก็บไว้พูดคุย แก้ไข ในที่ส่วนตัว (ที่รโหฐาน) ในขณะที่สื่อโซเชียลเป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น การนำเรื่องส่วนตัวไปโพสต์ในที่สาธารณะมากๆ ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีทราบหมดว่าเรากำลังทำอะไร ที่ไหน กับใคร  เพราะฉะนั้น ไปที่ไหนไม่จำเป็นต้อง “เช็คอิน”ทุกครั้งนะคะ มันเป็นภัยต่อตัวท่านเองและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่าน

การใช้สื่อโซเชียลของนักการเมืองก็เหมือนกันค่ะ ตอนนี้ผู้คนรู้สึกเอือมระอากับนักการเมืองมากเป็นพิเศษ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักการเมืองส่วนใหญ่(ไม่ใช่ทั้งหมด)ก็มีพฤติกรรมและความนึกคิดคล้ายๆเดิม เพียงแต่พอมีสื่อโซเชียล เขาก็แสดงออกมากขึ้น มากจนบางครั้งไปพาดพิงผู้อื่น ทีนี้เลยกลายเป็นพาดพิงผู้อื่นในที่สาธารณะ ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ในเรื่องการเมือง เราฉายภาพยนตร์น้ำเน่าซ้ำๆกันมาครึ่งศตวรรษแล้ว

หากท่านนักการเมืองทั้งหลาย จะเพลาๆการโพสต์เรื่องส่วนตัวที่ไปพาดพิงผู้อื่น ก็อาจจะทำให้น้ำใสขึ้นมาบ้าง การแสดงความคิดเห็น ติติง เสนอแนะในทางสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ดี ที่ควรส่งเสริม เพราะประชาชนจะได้เข้าใจและมีข้อมูลเพิ่มขึ้น แต่การเขียนแบบส่อเสียด ประชดประชัน เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

พูดถึงคนที่เอาเรื่องของตัวเองมาโพสต์แล้วก่อให้เกิดอันตรายแล้ว ยิ่งต้องพูดถึงคนที่เอาเรื่องของคนอื่นมาโพสต์เพื่อให้ตัวเองมียอดไลค์ ยอดแชร์ สูงๆ  ถ้าหากเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ต้องมีการเอาผิดอย่างจริงจังค่ะ ซึ่งกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องเหล่านี้อยู่ อยากให้บังคับใช้กฎหมายเต็มที่เลยนะคะ เพื่อเป็นการป้องปราม คนจะบอกว่า “ไม่รู้” ไม่ได้อีกต่อไป

อยากเรียกร้องขอ สาระจากสื่อต่างๆด้วยค่ะ เสนอสารคดีดีๆ วิทยาการใหม่ๆให้คนไทยเราทันโลก อย่าเอาแต่แชร์สื่อโซเชียลมาบนสื่อกระแสหลัก ยิ่งจะทำให้คนที่อยากเด่นอยากดัง กล้าทำในสิ่งเลวร้าย เพื่อจะได้เป็นข่าวไปทั่วประเทศและทั่วโลก

สุดท้ายนี้อยากจะฝากธรรมะซึ่งท่าน ว.วชิรเมธี ได้เขียนเอาไว้ เกี่ยวกับการพูด ซึ่งสามารถปรับมาใช้กับทั้งการพูดและการโพสต์ในสื่อโซเชียลได้ดังนี้

“มีผู้ไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า  พระองค์มีหลักในการตรัส (พูด) หรือไม่ตรัส (ไม่พูด) อย่างไรบ้าง  ทรงตอบโดยใช้วิธี  “จำแนก  แยกแยะ”  ดังนี้

  1. คำพูดที่ไม่จริงไม่ถูกต้อง,  ไม่เป็นประโยชน์,  ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น                ไม่ตรัส
    2.  คำพูดที่จริง  ถูกต้อง,  แต่ไม่เป็นประโยชน์,  ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น                   ไม่ตรัส
    3.  คำพูดที่จริง  ถูกต้อง,  เป็นประโยชน์,  ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น                   เลือกกาลตรัส
    4.  คำพูดที่ไม่จริง  ไม่ถูกต้อง,  ไม่เป็นประโยชน์,  ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น                ไม่ตรัส
    5.  คำพูดที่จริง  ถูกต้อง,  แต่ไม่เป็นประโยชน์,  ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น                    ไม่ตรัส
    6.  คำพูดที่จริง  ถูกต้อง,  เป็นประโยชน์,  เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้เอื่น                     เลือกกาลตรัส”