Grab รุกธุรกิจการเงินด้วย Fintech แบบเต็มตัว

Grab รุกธุรกิจการเงินด้วย Fintech แบบเต็มตัว

Grab และ Singtel กำลังเข้ามาแข่งขันอย่างเต็มตัวในธุรกิจการเงินการธนาคาร

ก่อนหน้านี้ หากเราพูดถึง Grab คนไทยเรามักจะนึกถึง Mobile Application ที่ให้บริการโดยสารประเภท Ridesharing เพื่อแก้ Pain Point เรื่องความยากลำบากในการเรียกรถ Taxi ต่อด้วยบริการสั่งอาหารมาที่บ้าน เพื่อแก้ Pain Point เรื่องการจราจรที่ติดขัด มาในวันนี้ Grab ได้ขยายบริการให้ครอบคลุมธุรกิจด้านการเงินด้วยการพัฒนาบริการด้าน Fintech อย่างเต็มตัว เพื่อแก้ Pain Point ด้านการเงินการลงทุน ที่คนในภูมิภาค ASEAN ได้เจออยู่ในชีวิตประจำวัน

เมื่อปลายปีที่แล้วในสิงคโปร์ Grab ได้ร่วมมือกับ Singtel ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารแบบ Digital Banking จาก Monetary Authority of Singapore (MAS) โดยที่ Grab ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 60% และ Singtel ถือหุ้น 40% คาดว่าใบอนุญาตดังกล่าวน่าจะได้รับการอนุมัติในช่วงกลางปี 2020 นี้ และ Grab + Singtel น่าจะพร้อมให้บริการในเวลาประมาณ 1 ปี หลังจากได้รับใบอนุญาต ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งสัญญาณเตือนไปยังธนาคารว่า ทั้ง Grab และ Singtel กำลังเข้ามาแข่งขันอย่างเต็มตัวในธุรกิจการเงินการธนาคาร
ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2020 นี้ Grab ได้มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้ง ด้วยการซื้อกิจการทั้งหมดของ Bento Invest ซึ่งเป็น Fintech Start-up สัญชาติสิงคโปร์ที่ให้บริการด้านการลงทุน หรือ Wealth Management ด้วยระบบ Robo-advisor แบบ B2B โดยหลังจากการซื้อกิจการ Grab ได้รวมเอา Bento Invest เข้าไปเป็นหน่วยงานหนึ่งใน Grab ภายใต้ชื่อ GrabInvest และตั้งเป้าหมายที่จะเริ่มให้บริการด้านการลงทุนผ่าน Grab Mobile Application ภายในช่วงกลางปี 2020 นี้ โดยเริ่มให้บริการภายในประเทศสิงคโปร์ก่อน จากนั้นจะขยายขอบเขตการให้บริการไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ASEAN

ทางด้านความเคลื่อนไหวของ Grab ในประเทศไทยนั้น ล่าสุด Grab ได้ประกาศให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อสำหรับ SMEs ภายใต้วงเงินก้อนแรกทั้งหมด 3 พันล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายเป็นผู้ขับรถและร้านค้าที่ให้บริการผ่าน Grab ในเบื้องต้นจำนวน 1 แสนราย โดยผู้ที่ต้องการขอรับสินเชื่อสามารถกรอกข้อมูลทำรายการผ่าน Grab Mobile Application ได้ทันที จากนั้น Grab จะประเมินความเสี่ยงโดยใช้ Credit Scoring Model ซึ่งอาศัย Big Data ที่มีอยู่ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายผ่านระบบ Grab ข้อมูลประวัติการชำระคืนเงินกู้ และข้อมูลจาก Credit Bureau เพื่อกำหนดวงเงินที่เหมาะสมสำหรับการให้กู้ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 18% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล และไม่เกิน 15% สำหรับสินเชื่อ SMEs นอกจากนี้ Grab ยังมีบริการสินเชื่อเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ในอัตราดอกเบี้ย 0% และชำระคืนแบบรายวันอีกด้วย โดยในส่วนนี้ Grab จะได้รับรายได้เป็นส่วนต่างของราคาที่ Supplier ให้ส่วนลดกับ Grab

เมื่อวิเคราะห์ดูการเคลื่อนไหวของ Grab ในสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ และ Grab ในประเทศไทยแล้ว ภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือภายในเวลาไม่ถึง 2 ปีหลังจากนี้ Grab จะเป็นทั้ง Super App และเป็นสถาบันการเงินที่ใช้ Fintech ให้บริการครอบคลุมทั้งการลงทุน การปล่อยกู้ และการรับฝากเงิน ด้วยฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่และความสะดวกในการใช้งาน Mobile Application จึงปฎิเสธไม่ได้เลยว่า Grab จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจการเงินใน ASEAN แบบเต็มตัวอย่างแน่นอน ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่มาก และมีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม แต่สำหรับสถาบันการเงินแล้ว คงจะต้องเร่งปรับตัวด้วยการทำ Digital Transformation กันขนานใหญ่ สถาบันการเงินขนาดเล็กควรคิดค้นบริการที่สร้างความแตกต่างสำหรับ Niche Market เพื่อหาจุดยืนที่ชัดเจนในสายตาผู้บริโภค ในขณะที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ควรจะหาวิธีร่วมมือกับ Super App แต่ละรายแบบยั่งยืน กลยุทธ์ทางธุรกิจของวงการธนาคารหลังจากนี้จะมีความน่าสนใจติดตามเป็นอย่างมาก โปรดติดตามกันต่อไปครับ