อายุ 1 ปีที่มีสุขภาพสมบูรณ์ของท่านมีค่าเท่าไหร่.?

อายุ 1 ปีที่มีสุขภาพสมบูรณ์ของท่านมีค่าเท่าไหร่.?

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรฯ ได้จัดงานสัมมนาต้นปีขึ้นเพื่อนำเสนอการประเมินทิศทางเศรษฐกิจ

และคำแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้าบุคคล ซึ่งมีการจัดการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย ผมจึงได้ขอให้ทั้งลูกค้าของเกียรตินาคินภัทรฯ และพนักงานภัทรฯ ตอบคำถาม 2 ข้อคือ

  1. หากท่านต้องเลือกระหว่างการได้เงิน 9 ล้านบาทกับการมีอายุยืน (และสุขภาพดี) มากขึ้นอีก 3 ปี ท่านจะเลือกเงินหรือสุขภาพ
  2. หากท่านทำงานหาเงินได้เพิ่มอีก 50 ล้านบาท แต่อายุจะสั้นลงไป 5 ปี ท่านจะเลือกเงินหรือสุขภาพ?

158225633414

158225635191

ดังที่เห็นคำตอบที่สรุปผลในตาราง 1 และตาราง 2 จะเห็นได้ว่า

1.เป็นไปตามคาดคือคนที่อายุมากจะเลือกอายุยืนมากกว่าเลือกเงิน

2.คนส่วนใหญ่เลือกอายุยืน ซึ่งในกรณีแรกนั้นอายุ 1 ปีมีมูลค่า ปีละ 3 ล้านบาท เสียงส่วนใหญ่เลือกอายุ แต่ในกรณีที่ 2 ซึ่งคำนวณมูลค่าของอายุมากถึง 10 ล้านบาทต่อ 1 ปี เสียงส่วนใหญ่ก็ยังหนักแน่นว่าต้องการอายุยืน ยกเว้นกรณีพนักงานที่อายุน้อยของภัทรฯ ที่ 53.3% ยอมอายุสั้นลง 5 ปีเพื่อทำงานให้ได้เงินรายได้เพิ่มขึ้น 50 ล้านบาท (แต่ลูกค้าของภัทรฯ 61.5% ไม่ยอมอายุสั้นลงเพื่อแลกกับเงิน)

3.มนุษย์เรานั้นกลัวเสียสิ่งที่มีอยู่แล้ว(อายุสั้นลง 5 ปี) มากกว่าอยากได้เพิ่ม(อายุยืนขึ้นอีก 3 ปี) จะเห็นได้ว่าใน 2 กรณีดังกล่าวตีมูลค่าอายุ 1 ปีต่างกันมาก จาก 3 ล้านบาทต่อปีเป็น 10 ล้านบาทต่อปี แต่ผลที่ออกมากลับไม่แตกต่างกันเลยสำหรับผู้ที่อายุ 31 ปีหรือมากกว่า ดังนั้นจากข้อมูลของคนไทยที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 230 คนนั้น น่าจะตีมูลค่าชีวิต 1 ปีของตัวเองเกินกว่า 3 ล้านบาทอย่างค่อนข้างแน่นอน (และมากกว่านั้นมากในกรณีของผู้ที่อายุกลางคนขึ้นไป)

เรื่องนี้น่าสนใจเพราะผมอ่านงานวิจัยของประเทศพัฒนาแล้วเกี่ยวกับการแพทย์และการประกันสุขภาพพบว่า รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐ สหภาพยุโรปและออสเตรเลียมีการกำหนดมาตรฐาน (แต่มักจะไม่พยายามเปิดเผยให้แพร่หลาย) ว่าหากรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นในด้านการแพทย์และการรักษาโรคเพื่อให้ประชาชนอายุยืนขึ้นอีก 1 ปี (โดยมีสุขภาพสมบูรณ์) รัฐบาลจะยอมอนุมัติการรักษาดังกล่าวหากค่าใช้จ่ายไม่เกิน 50,000 เหรียญต่อคน (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) ซึ่งต้องยอมรับว่าต่ำกว่าที่เราประเมินมูลค่าชีวิต 1 ปีของตัวเองอย่างมาก

ทำให้ผมลองกลับไปคิดต่ออีกว่าในกรณีของประเทศไทยนั้นตัวเลขน่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่น่าจะสูงเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วเพราะเศรษฐกิจของไทยมีขนาดเล็กกว่ามาก ตรงนี้ผมขอเรียนว่าเป็นการคิดจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีเจตนาที่จะคำนวณมูลค่าของชีวิตแต่อย่างใด เพราะทุกคนก็รักชีวิตของตัวเองและอยากมีชีวิตอยู่นานๆตราบใดที่ยังสุขภาพดีและแข็งแรง

ประเทศไทยนั้นประชาชนมีรายได้ต่อหัวประมาณ 250,000 บาทต่อปี แปลว่าในมุมมองของรัฐบาลนั้น คนไทยผลิตสินค้าและบริการซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศเท่ากับ 250,000 ในแต่ละปี และรัฐบาลก็เก็บภาษีและมีกำไรจากรัฐวิสาหกิจรวมกันประมาณ 20% ของจีดีพี ซึ่งหมายความว่าประชาชนแบ่งผลผลิตต่อคนให้กับรัฐบาลประมาณปีละ 50,000 บาท แปลว่ารัฐบาลไทยนั้นหากจะทุ่มเทงบประมาณทั้งหมดให้กับประชาชนในด้านของการแพทย์และสุขภาพ (โดยไม่จ่ายเงินให้กับกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นใดเลย) ก็จะมีเงินให้ประชาชนทุกคนเพียง 50,000 ต่อคนเท่านั้น (ดังนั้นการตีมูลค่าชีวิต 1 ปีของตัวเราเองที่ 3-10 ล้านบาทนั้น ไกลกับความเป็นจริงในเชิงของการคลังของรัฐบาลอย่างมาก)

ข้อมูลล่าสุดในปี 2017 ระบุว่าผู้ป่วยที่เข้ารับบริการของรัฐภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (เดิมทีเรียกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค) นั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 19.71 ล้านคน โดนอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น (จากตัวเลขที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2013) ประมาณ 2% ต่อปี ซึ่งผมขอใช้ตัวเลขกลมๆว่าปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการประมาณ 20 ล้านคน (โดยจากข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งประเมินว่าประมาณกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยดังกล่าวเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่า) ซึ่งงบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วยหน้านั้นเท่ากับ 190,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าใช้งบประมาณต่อจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการไม่ถึง 10,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผล เพราะรัฐบาลเก็บภาษีจากประชาชนได้เฉลี่ยเพียง 50,000 ต่อคนต่อปี

ข้อสรุปคือหากผมรักชีวิตตัวเองเท่ากับ 3-10 ล้านบาทต่อปีหรือมากกว่านั้นจริง ก็จะต้องดูแลตัวเองให้ดีเป็นหลักครับ

โดย...

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ