อยู่อย่างไรในโลกยุคดอกเบี้ยต่ำ

อยู่อย่างไรในโลกยุคดอกเบี้ยต่ำ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งได้แชร์ความรู้สึกให้ฟังว่า

เมื่อสมัยก่อนดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในอัตราที่สูงอย่างน้อยก็มากกว่าร้อยละ 5 แถมพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคงสูงก็ให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูง การวางแผนเกษียณในอดีต คนเลยให้ความสนใจกันน้อยมาก พอมาเกษียณเข้าจริง กลับพบกับความจริงที่น่ากังวลสองเรื่องด้วยกันคือ

ประเด็นแรก ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารที่เป็นที่รู้จักและฝากมานาน ปรับลดลงและอยู่ในระดับต่ำมานานหลายปี ส่วนผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐวิสาหกิจก็อยู่ในอัตราที่ต่ำเช่นกัน 

ประเด็นที่สอง คือค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าสมัยเมื่อตอนทำงานอยู่ แถมมีค่าใช้จ่ายแฝงที่มีเข้ามาแบบไม่รู้ตัว เช่น ค่าอินเตอร์เน็ต ค่า Netflix  ค่ากาแฟเวลานั่งคุยกับเพื่อนๆ เป็นต้น ค่าใช้จ่ายตัวใหญ่ที่โผล่มาจากเดิมที่ไม่เคยมีก็คือ ค่ารักษาพยาบาล และดูแลสุขภาพ ทั้งหมดทำให้เงินเก็บที่วางไว้ตอนเกษียณให้ผลตอบแทนไม่ค่อยพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีเงินเก็บทีมั่นใจว่าน่าจะเพียงพอให้อยู่สบายๆ

ฟังเรื่องราวแล้วก็เลยอยากมาแชร์ให้ท่านผู้อ่านฟัง โดยในเบื้องต้นผมอยากให้เรื่องนี้เป็นข้อเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณของท่านผู้อ่านที่ยังอยู่ในวัยทำงาน และการวางแผนนี้ต้องคำนึงถึงอัตราผลตอบแทนของเงินเก็บในอนาคต ค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ค่าใช้จ่ายแฝงจากรูปแบบการใช้ชีวิตและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ภาวะสุขภาพที่มาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินที่ต้องเตรียมไว้สำหรับการเกษียณ

ประเด็นต่อมาคือ ภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและน่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่านี้อีก เราลองมาคำนวณดูแบบง่าย ๆกัน เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 2 และเราต้องการเงินต่อเดือนประมาณ 15,000 บาท เราต้องมีเงินเก็บถึง 9 ล้านบาทเพื่อให้มีดอกเบี้ยสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว (โดยที่ไม่กินเงินต้น) ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำหนึ่งปีของ 5 ธนาคารใหญ่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 เท่า ๆกับเงินฝากประจำสองปี แต่ถ้าเราปรับพอร์ตโดยนำไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 3% ด้วยเงินต้น 9 ล้านบาทเท่ากันเราจะได้ดอกเบี้ยประมาณ 22,500 บาท ซึ่งมากกว่าเดิมถึง 7,250 บาท เงินที่งอกเงยขึ้นมา ผมว่าน่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายแฝงที่เพิ่มเข้ามา

ประเด็นที่สาม คือเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพซึ่งสามารถแยกออกเป็น 3 ก้อนคือ ก้องที่หนึ่ง ค่ารักษาพยาบาล โดยก้อนนี้ เป็นก้อนที่บอกหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก และเมื่อเกิดจำนวนเงินก็ยากอีกเช่นกัน ก้อนที่สองเป็นค่าใช้จ่ายด้านการตรวจสุขภาพซึ่งง่ายต่อการประมาณ ก้อนที่สามคือค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันซึ่งมาจากอาหารเสริมสุขภาพ วิตามิน ค่าใช้จ่ายจากการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เป็นต้น ซึ่งเราต้องเตรียมเงินเกษียณของเราให้เพียงพอกับค่าใช้ส่วนด้านสุขภาพนี้ คำแนะนำก็คือเราควรลงทุนกับการประกันชีวิตและประกันสุขภาพ โดยมีเงินประกันที่คิดว่าเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายสองก้อนแรก และควรดูในเรื่องของสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมโดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาล

ท้ายสุดนี้ผมอยากเน้นย้ำอีกครั้งในเรื่องความสำคัญของการวางแผนความมั่งคั่งซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้น บริษัทที่ทำธุรกิจด้านเวลท์แมเนจเมนท์เพิ่มขึ้นอย่ารวดเร็ว รวมถึงเทคโนโลยี่ที่ช่วยให้การวางแผนและการติดตามปรับเปลี่ยนสะดวกยิ่งขึ้น และอย่าลืมนะครับว่าประกันชีวิตและประกันสุขภาพก็เป็นสินทรัพย์ที่จำเป็นในการวางแผนความมั่งคั่งของเรา ในแง่ของรูปแบบของพอร์ตการลงทุนของเรานั้นผมอยากแนะนำให้เราแบ่งเป็นเฟสๆ คือช่วงแรกจนถึงกลางของการเก็บออมความเสี่ยงของพอร์ตสามารถอยู่ในระดับสูงได้แต่เมื่อใกล้ครบกำหนดเกษียณอายุเราควรปรับลดระดับความเสี่ยงลงมา และเมื่อเกษียณอย่าหยุดลงทุนให้นำเงินที่ลงทุนต่อแต่อาจเน้นให้ปลอดภัยมากขึ้น เช่น อยู่ในพอร์ตที่เสี่ยงระดับหนึ่งหรือสองและให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ในส่วนของเบี้ยประกันถ้ายังอยู่ในช่วงที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันต้องกันเงินไว้ให้เพียงพอ

 

ครับท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนครับ