ยุค“มหา”พาละเมิดศีล

ยุค“มหา”พาละเมิดศีล

การศึกษาความเป็นมาของสังคมมนุษย์แนวหนึ่งมักพึ่งการแบ่งเหตุการณ์ออกเป็นยุค โดยอ้างอิงสิ่งเด่นๆ เป็นเกณฑ์ของการแบ่ง เช่น

การศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย ใช้เมืองหลวงอ้างอิงเป็นยุคสุโขทัย ยุคกรุงศรีอยุธยา ยุคกรุงธนบุรี และยุคกรุงรัตนโกสินทร์ หรือการศึกษาแนวการบริหารบ้านเมืองของไทยแบ่งเป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยุคที่มักเรียกกันว่าประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ด้านการศึกษาเศรษฐกิจของไทยดูจะไม่นิยมใช้การแบ่งเป็นยุค ทั้งนี้คงเพราะตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทย เราใช้เฉพาะระบบตลาดเสรีตามข้อความในศิลาจารึก ซึ่งคนไทยโดยทั่วไปเข้าใจว่าทำขึ้นในยุคกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีที่ว่า “ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า”

กระนั้นก็ตาม หากถามคนไทยว่าระบบตลาดเสรีคืออะไร ส่วนใหญ่จะตอบไม่ถูกเพราะระบบการศึกษาของไทยไม่บรรจุเรื่องเศรษฐกิจไว้ในหลักสูตร ทั้งที่ชีวิตประจำวันของทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การบริโภค การซื้อ หรือการขาย ซ้ำร้ายแม้กระทั่งผู้ที่เรียนเอกเศรษฐศาสตร์ ยังมักไม่แตกฉานเรื่องฐานของระบบตลาดเสรี ทั้งนี้คงเพราะผู้สอนเองอาจไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องฐาน หรืออาจไม่แตกฉานเสียเอง

คงเป็นที่ทราบกันดี ระบบตลาดเสรีแม้จะมีมาตั้งแต่เริ่มมีสังคมมนุษย์เนื่องจากเราเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่มีสัญชาตญาณในการแลกเปลี่ยนกัน แต่ไม่มีการสังเคราะห์ออกมา หรือศึกษาอย่างเป็นระบบจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง จนกระทั่ง “อดัม สมิธ” พิมพ์หนังสือออกมาเมื่อปี 2319 หรือในยุคกรุงธนบุรีที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า The Wealth of Nations

กระนั้นก็ตาม หากถามว่าอะไรเป็นฐานของแนวคิด อดัม สมิธ คงละไว้ในฐานที่เข้าใจเพราะเขามิได้พูดถึงโดยตรงในหนังสือเล่มนี้ ผู้รู้เรื่องราวของเขาค่อนข้างดีเท่านั้นจึงจะรู้ว่าเขาเป็นอาจารย์ด้านจริยศาสตร์ด้วย และก่อนพิมพ์หนังสือเรื่องโด่งดังที่อ้างถึงนั้น 17 ปี เขาได้พิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับจริยธรรมชื่อ The Theory of Moral Sentiments

เมื่อนำหนังสือ 2 เล่มนี้มาพิจารณา อาจสรุปได้ว่าฐานของระบบตลาดเสรีได้แก่ การมีจริยธรรมที่จะทำอะไรๆ ไปตามกฎเกณฑ์ของมัน เรื่องพนักงานของรัฐมีผลประโยชน์ทับซ้อนและการผูกขาดในตลาดทุกชนิดเป็นการละเมิดจริยธรรม ซึ่งจะทำให้ระบบตลาดเสรีมีประสิทธิภาพน้อย เมืองไทยปล่อยให้เกิดการผู้ขาด หรือกึ่งผูกขาดในตลาดหลายอย่างเพราะพนักงานของรัฐอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ระบบตลาดเสรีจึงมีประสิทธิภาพน้อยกว่าที่น่าจะมี

อนึ่ง จริยธรรมมิใช่เป็นฐานของด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากเป็นฐานของกิจการด้านถูกต้องของสังคมมนุษย์ทั้งหมด การเมืองไทยมีปัญหายืดเยื้อมาตั้งแต่วันเปลี่ยนระบบการปกครองเมื่อปี 2475 เพราะคนไทยโดยทั่วไปไม่ยึดจริยธรรมของด้านการบริหารบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย การซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการละเมิดจริยธรรมของประชาธิปไตยส่งผลให้เกิดปัญหาสาหัส

สังคมไทยโดยทั่วไปจะยอมรับว่าฐานของกิจการด้านถูกต้องทุกอย่างคือจริยธรรม หรือการทำตามกฎเกณฑ์มากน้อยเพียงไรยากที่จะประเมิน แต่คงไม่มากนักหากมองจากการตัดวิชาศีลธรรมออกจากหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานมานานแล้ว แม้จะมีผู้แย้งว่าได้นำหลักวิชานี้ไปแทรกไว้ในวิชาอื่นและกิจกรรม หรือฝ่ายพุทธศาสนาส่งพระเข้ามาสอนวิชาธรรมศึกษาในโรงเรียน แล้วก็ฟังไม่ขึ้น เพราะมักมิได้ทำกันอย่างจริงจังตามอุดมการณ์

ร้ายยิ่งกว่านั้น พระเองกลับเป็นตัวอย่างไม่ดีที่ปลูกฝังเด็กให้ไม่เคารพจริยธรรม เรื่องนี้มิได้มาจากข่าวอื้อฉาวเป็นครั้งคราวเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระ หากมาจากการสอนและสอบธรรมศึกษาในโรงของพระ กล่าวคือพระไปสอนไม่ครบตามกำหนดเวลาและเนื้อหาที่ควรสอน แต่ขอเบิกค่าตอบแทนเต็มที่ ร้ายไปกว่านั้นอีกคือพระบอกคำตอบของข้อสอบให้แก่เด็กในห้องสอบ พระได้หน้าและค่าตอบแทนเมื่อเด็กที่ตนสอนสอบผ่านจำนวนมาก พระละเมิดศีลเป็นตัวอย่างให้เด็กดู ส่วนเด็กไม่มีความรู้เรื่องหลักธรรมได้ใบประกาศนียบัตร

ในยุคที่มีการละเมิดฐานด้านจริยธรรมกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งพระเป็นตัวอย่างของการละเมิดศีลอย่างแพร่หลาย การแก้ปัญหาและการพัฒนาชาติไทยย่อมเกิดได้ช้ามาก