กฎหมายไทยกับการแพร่เชื้อเอชไอวี

กฎหมายไทยกับการแพร่เชื้อเอชไอวี

จากประเด็นอันเป็นกระแสสังคมกับกรณีของ “พีท เลือดบวก”

ส่งผลถึงความตื่นตัวต่อการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีเชื้อเอชไอวีโดยไม่สวมถุงยางอนามัย ว่ามีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด และถามหาถึงความรับผิดทางกฎหมายต่อผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี แล้วมาร่วมประเวณีกับคู่นอนโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยที่ “ไม่บอกถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าว”

ผู้เขียนแบ่งประเด็นออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้ 1.ความรับผิดจากการแพร่เชื้อเอชไอวีในต่างประเทศ 2.ความรับผิดจากการแพร่เชื้อเอชไอวีในประเทศไทย และ 3.ผลที่เกิดขึ้นกับสังคมจากการบังคับใช้กฎหมายประเภทดังกล่าว

1.ความรับผิดจากการแพร่เชื้อเอชไอวีในต่างประเทศ

จากการสำรวจขององค์กรความร่วมมือเกี่ยวกับเอดส์ (UNAIDS) ในปี 2557 พบว่ามี 61 ประเทศที่กำหนดให้การแพร่เชื้อเอชไอวีเป็น “อาชญากรรม” มีโทษทางอาญา เห็นได้ว่าในกลุ่มประเทศข้างต้นเลือกที่จะแก้ปัญหาการแพร่เชื้อเอดส์ผ่านทางการออกกฎหมายควบคุมและกำกับความประพฤติของการร่วมประเวณีของผู้ติดเชื้อ แต่ทั้งนี้การกระทำที่จะเป็นความผิดจะต้องเกิดจาก “การแพร่เชื้อโดยเจตนา” กล่าวคือหากผู้ที่ถูกกล่าวอ้างว่ากระทำผิด “ไม่ได้ทราบว่าตนติดเชื้อ” บุคคลดังกล่าวก็จะไม่มีความผิด

ยกตัวอย่าง คดีนายเจมส์ ดีฟัลโก ชาวอังกฤษที่เคยรับโทษในความผิดฐานแพร่เชื้อเอดส์ต่อผู้อื่นเมื่อปี 2548 ด้วยการร่วมประเวณีกับหญิงวัย 82 ปี โดยไม่บอกว่าตนติดเชื้อ หลังจากนั้นในปี 2557 เขาก็นัดผ่านเว็บไซต์หาคู่กับหญิงวัย 65 ปี เพื่อมีเพศสัมพันธ์อีก ซึ่งถูกศาลสั่งจำคุกในความผิดเดียวกันเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน แต่ก็ถูกปล่อยตัวออกมาก่อนเมื่อปี 2019 และกระทำความผิดเป็นครั้งที่ 3 ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งหลังนี้ผู้กระทำผิดได้สารภาพเองว่าได้กระทำความผิดอันเป็นอาชญากรรมร้ายแรงผ่านการแพร่เชื้อเอชไอวี

ซึ่งผู้พิพากษาในคดีดังกล่าวได้ออกมายืนยันในฐานความผิดดังกล่าวว่า “เขาขัดคำสั่งศาลที่ให้เขาต้องบอกคนอื่นว่ามีเชื้อไวรัสเอชไอวีก่อนจะมีเพศสัมพันธ์” การกระทำนั้นจึงเป็นความผิดตามกฎหมายอังกฤษ เช่นเดียวกับคดีที่เกิดขึ้นในประเทศรัสเซีย สหรัฐ และฝรั่งเศส

จึงเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในต่างประเทศนั้น จะต้องกระทำผ่านพฤติการณ์อันเป็นองค์ประกอบภายในของโครงสร้างแห่งความรับผิดทางอาญาที่เรียกว่า “เจตนา” โดยมีเครื่องมือแห่งการชี้วัดการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ผ่านการบอกข้อเท็จจริงแห่งการติดเชื้อให้คู่นอนทราบเพื่อให้ “เป็นคนตัดสินใจ”

2.ความรับผิดจากการแพร่เชื้อเอชไอวีในประเทศไทย

ในประเทศไทยกฎหมายเขียนชัดเจนว่า “บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้” อีกทั้ง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา” จากวัตถุประสงค์แห่งการบังคับใช้กฎหมายอาญาดังกล่าวทำให้การลงโทษผู้กระทำความผิดจะต้องประกอบด้วย 1.“กฎหมายต้องบัญญัติว่าเป็นความผิด” และ 2.“ผู้กระทำต้องมีเจตนาในการกระทำความผิด” เสมอ เมื่อลองพิจารณากฎหมายที่สามารถปรับใช้กับผู้กระทำความผิดก็มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน

2.1.ประมวลกฎหมายอาญา : ส่วนที่ใกล้เคียงกับการปรับใช้ที่สุดคือภาคความผิดในลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เพราะมีลักษณะใกล้เคียงต่อความผิดฐานพยายามฆ่า และเจตนาทำร้ายร่างกาย ประเด็นคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการกระทำดังกล่าวมี “เจตนาฆ่า” หรือ “เจตนาทำร้ายร่างกาย”

หากลองเปรียบเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษความต่างอยู่ที่ “ผู้กระทำความผิดยอมรับว่าตนเองมีเจตนาแพร่เชื้อ” เช่นนี้ หากผู้กระทำไม่ยอมรับจะเกิดผลอะไร คำตอบคือเมื่อกฎหมายอาญาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งสังคม โดยมีบทลงโทษอันละเมิดแก่ชีวิต ร่างกายของผู้กระทำผิด การตีความจึงต้องกระทำโดยเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นการส่งผลเสียต่อสิทธิของผู้กระทำผิดจนเกินไป

ดังนั้น จึงห่างไกลจากภาวะวิสัยที่เกิดขึ้นโดย “เจตนา” เห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ที่ไม่สามารถเอาผิดกับนายเซเนดิก ไฟยเฟอร์ ชาวเช็ก ที่มีพฤติกรรมเข้ามาแพร่เชื้อเอชไอวีแก่ผู้อื่นในประเทศไทยในช่วงปี 2557-2559 ทำได้เพียงส่งตัวกลับประเทศตามความผิด พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว หลายประเทศจึงใช้กฎหมายพิเศษในการลงโทษผู้กระทำความผิดเพื่อที่จะก้าวข้ามปัญหาทางการตีความเรื่อง “เจตนา” เช่น กฎหมายควบคุมการแพร่เชื้อเอชไอวี หรือกฎหมายควบคุมโรคติดต่อ เป็นต้น

2.2.พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 : ประเทศไทยแม้จะมี พ.ร.บ.นี้เพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่อที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง แต่ด้วยวัตถุประสงค์ที่ถูกสร้างมาแก้ปัญหาเฉพาะโรคติดต่อเฉียบพลัน อย่างเช่นเมอร์สที่ส่งผลต่อชีวิตผู้ติดเชื้อในทันที จึงไม่สามารถบังคับไปถึงโรคเอดส์ที่มีระยะการฟักตัวนาน และไม่อาจถึงแก่ความตายได้โดยเฉียบพลัน

3.ผลที่เกิดขึ้นกับสังคมจากการบังคับใช้กฎหมายประเภทดังกล่าว

จากผลแห่งการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวีดังกล่าว จะเห็นช่องว่างในทางกฎหมายมากมาย ทั้งในแง่ของการบัญญัติกฎหมายเพื่อจะเอาผิด หรือการไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด กล่าวคือหากประเทศไทยบัญญัติกฎหมายเฉพาะเพื่อมาเอาผิดกับการกระทำดังกล่าว เช่นนี้จะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่เป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ และจะทำอย่างไรในการที่ทำให้ผู้ติดเชื้อทุกคนเข้าสู่กระบวนการคัดกรองว่า “มีเชื้อจริง” ในอีกมิติหนึ่ง หากไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด การจะเอาผิดกับคนที่มีเจตนาแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นก็กระทำได้โดยยาก และสังคมจะรู้สึกว่าตกอยู่ในความเสี่ยงจากการไม่มีกรอบควบคุมทางกฎหมาย

ในมุมมองของผู้เขียน กฎหมายไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกกรณี หากเราไม่เข้าใจว่าบ่อเกิดของปัญหานั้นเกิดจากอะไร ผู้เขียนจึงสนับสนุนการลดปัญหาตามมุมมองขององค์การอนามัยโลก ด้วยการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวทั้งต่อตัวเรา และการแพร่เชื้อต่อผู้อื่นต่อไป ด้วยเหตุที่ว่าเราไม่สามารถทราบได้ว่าตัวเราหรือคู่นอนเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ และจบปัญหาความรับผิดทางกฎหมายอันว่าด้วย “การติดเชื้อโดยเจตนา” ที่ตัวเราเอง

โดย... 

ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์