3 แนวทางชี้ชะตา 'อนาคตใหม่'

3 แนวทางชี้ชะตา 'อนาคตใหม่'

21 ก.พ. วันชี้ชะตา พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรค

กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท จาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนค. โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนค. เดินเกมเหมือนเดิม ชิงแถลงปิดคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ยืนยันกฎหมายพรรคการเมือง ไม่มีได้เขียนห้ามไม่ให้พรรคการเมือง กู้เงิน ดังนั้นพรรคอนค.จึงสามารถกู้เงินจาก ธนาธร ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

แต่การตีความของ กกต. มองกฎหมายคนละมุม เพราะการที่กฎหมายไม่ได้เขียนห้ามเอาไว้ แต่เขียนแนวทางปฏิบัติเอาไว้ หากทำนอกเหนือจากที่วางแนวทางเอาไว้ ถือว่ามีความผิด

เมื่อตีความกฎหมายกันคนละมุม จึงต้องรอติดตามว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยอย่างไร

วงในพรรคอนค. วิเคราะห์แนวทางคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท เอาไว้ 3 แนวทาง 1. ไม่ยุบพรรคอนค. ทุกอย่างจะคงสภาพเหมือนเดิม การทำงานของพรรคอนค.จะเดินหน้าต่อ แต่จะปรับลดแรงปะทะทางการเมืองลง เพื่อไม่ให้เป็นเป้ามากนัก พร้อมสร้างเครือข่ายให้แข็งแกร่งต่อไป

2. ยุบพรรคอนค. และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค จะทำให้ 10 กรรมการบริหารพรรค ต้องพ้นสภาพความเป็น ส.ส. ทันที ส่วน ส.ส.พรรคอนค. ที่เหลือต้องหาพรรคการเมืองใหม่สังกัด ภายใน 60 วัน ซึ่งมีโอกาสสูง ส.ส.พรรคอนค. จะรวมกลุ่มกัน เพื่อหาพรรคการเมืองใหม่สังกัด

แต่อาจจะมี ส.ส.พรรคอนค. บางคนที่อาจจะผิด สัญญาใจ พาตัวเองเข้าสู่ “ขั้วรัฐบาล” เพราะคำนวณแล้วมีโอกาสเป็น ส.ส. ได้สมัยเดียว ขอลิ้มลองการอยู่ร่วมกับ “ขั้วรัฐบาล”

3. ไม่ยุบพรรคอนค. แต่ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค แนวทางดังกล่าวแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ก็พอเป็นสูตรให้คิดได้ หากต้องการลดกระแสไม่ให้ถูกโจมตีมากเกินไป โดย “แกนนำอนค.” มองว่าเป้าหลักคือ กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้เกี่ยวกับ ลูกพรรคอนค. ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะคงสภาพพรรคอนค.ไว้

อีกไม่กี่อึดใจจะได้รู้ว่า “พรรคอนาคตใหม่” จะมีชะตาอย่างไร จะอยู่ในสารระบบการเมืองไทยต่อไป หรือจะหยุดไว้เพียงเท่านี้ หลังก่อตั้งได้เพียง 2 ปี