10 คำทำนายในสิบปีข้างหน้า (ตอนสุดท้าย)

10 คำทำนายในสิบปีข้างหน้า (ตอนสุดท้าย)

สำหรับภาคสุดท้ายของ 10 คำทำนายในสิบปีข้างหน้า ผู้เขียนขอจบด้วย 2 คำทำนายสำคัญ ที่มีผลต่อมวลมนุษยชาติในระยะยาว คือ ทรัพยากร และสงคราม

9. ทรัพยากร--มุ่งสู่ “รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)

จากคำทำนายที่ 7 ที่กล่าวว่าโลกในยุค 2030 จะเข้าสู่ภาวะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทางการทั่วโลกหันมาคุมเข้มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

มาตรการดังกล่าว จะทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกไปถึงจุดสูงสุด (Peak oil) ที่ประมาณ 105 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2025 จากปัจจุบันที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ (กว่า 20%) มาจากการคมนาคมขนส่ง ซึ่งการที่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น เทสล่า Byd รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิม เช่น ฟอร์ด นิสสัน เบนซ์ พอร์ช หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการผลิตแบตตารี่

ในปี 2025 กว่า 30% ของรถยนต์ที่ผลิตใหม่และจำหน่ายทั่วโลกจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากสมรรถนะที่ดีกว่า ประหยัดต้นทุนการดูแลรักษามากกว่า และปล่อยมลพิษน้อยกว่า และในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนท้องถนนทั่วโลกประมาณ 100 ล้านคัน จากจำนวนยานพาหนะทั้งหมดประมาณ 1.2 พันล้านคัน

ในส่วนของอาคารที่พักอาศัยและสถานที่ทำงานนั้น จะปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้นเพื่อให้บริโภคพลังงานน้อยลง (Smart building) เนื่องจากในปัจจุบัน กว่า 40% ของพลังงานและทรัพยากรทั่วโลก ถูกใช้ในอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย ดังนั้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารให้ประหยัดพลังงาน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำประปา และไฟฟ้า อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นจะเป็นแนวโน้มใน 10 ปีข้างหน้า

ในปัจจุบัน เพียง 10% ของอาคารในสหรัฐเป็น Smart building ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ของอาคารในสหรัฐและกว่า 10% ของอาคารทั่วโลกในทศวรรษหน้า ทำให้มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Smart building เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 จาก 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

10.การทหาร- Military war ก้าวสู่ Proxy war การแข่งกันเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี (Technological supremacy) การก่อการร้าย และการสั่งสมกำลังนิวเคลียร์

ดังที่กล่าวในคำทำนายที่ 6 ว่า ในสิบปีนับจากนี้ โอกาสของการเกิดสงคราม โดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจเบอร์หนึ่งอย่างสหรัฐ กับอันดับสองอย่างจีน ยังเป็นไปได้ยากเนื่องจากต้นทุนจะยังสูงกว่าประโยชน์แห่งสงคราม

แต่ประเด็นด้าน Security dilemma หรือการที่จีนกำลังเติบโต ทำให้สหรัฐมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตรมากขึ้น และเริ่มหันมาเตรียมกองทัพให้พร้อมรบในสงครามขนาดใหญ่ (Large scale operation) ขนาดเดียวกับสงครามโลก รวมถึงพัฒนาอาวุธสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง และหันมาโฟกัสเอเชียมากขึ้น ทั้งการซ้อมรบ การให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ประเทศในเอเชีย และขายอาวุธทันสมัยให้เอเชียมากขึ้น

นฝั่งของจีนเอง ก็เผยแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียมากขึ้น ทั้งผ่านโครงการ Maritime silk road ที่เป็นการพัฒนาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เมืองท่าในเอเชียใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมถึงยุโรป ผ่านการให้เงินกู้และความช่วยเหลือในการสร้างท่าเรือ และต่อสาย Fiber optic เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เนทในโครงการ Digital Silk road ผ่านภาคเอกชนของจีนอย่าง Huawei นอกเหนือไปจากการที่จีนหันมาตั้งฐานทัพในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ ทำให้ในอนาคต เอเชียจะ "เนื้อหอม" มากขึ้น และเสี่ยงที่จะเป็นพื้นที่ของ Proxy war ระหว่าง 2 มหาอำนาจเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความเสี่ยงของการเกิด "อุบัติเหตุ" ขึ้น โดยเฉพาะในคาบสมุทรไต้หวัน เกาหลี และทะเลจีนใต้

นอกจากนั้น สงครามขนาดเล็ก อันได้แก่ความขัดแย้งย่อย ๆ เช่น ระหว่างสหรัฐและพันธมิตรในตะวันออกกลาง (เช่น ซาอุฯ คูเวต และอิสราเอล) กับคู่แข่ง (เช่นอิหร่าน ลิเบีย และอื่น ๆ) จะยังมีอยู่ (ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงของการก่อการร้ายต่าง ๆ) แต่สงครามขนาดใหญ่ เช่น ระหว่าง จีนกับสหรัฐ น่าจะยังไม่เกิด แต่ทั้งสหรัฐและจีนจะสั่งสมกำลังอาวุธผ่านรูปแบบสงครามที่เปลี่ยนไปคือ สงครามเทคโนโลยี

ระบบ Splinternet หรือการแบ่งขั้วทางระบบ Internet จะรุนแรงขึ้น โดยสหรัฐและจีนจะแข่งกันมากขึ้นในด้านต่าง ๆ ของเทคโนโลยี เช่น ระบบ AI, ระบบโทรคมนาคม 5G, ระบบความปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการแข่งขันด้านการทหารในอวกาศ โดยจีนตั้งเป้าว่า ในปี 2030 จีนจะเป็นผู้นำด้าน AI แทนที่สหรัฐ ขณะที่ในปัจจุบัน จีนมีการจดสิทธิบัตร Quantum Computing มากกว่าสหรัฐแล้วถึง 2 เท่า (จีน 500: สหรัฐ 250) และจีนจะมีอำนาจแทนที่สหรัฐมากขึ้นในเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลียผ่านโครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI (ขณะนี้ครอบคลุม 60 ประเทศ และ 63% ของประชากรโลก) ซี่งจะทำให้จีนเผยแพร่ระบบอินเตอร์เนทของจีนมากขึ้น ทำให้จีนมีข้อมูลมหาศาลเพื่อให้ระบบ AI สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้มากขึ้น

ในทางกลับกัน กลยุทธของสหรัฐคือการใช้กฎระเบียบ (Regulation) ที่เข้มงวดขึ้นกับธุรกิจด้าน IT รวมทั้งเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรคว่ำบาตรธุรกิจ IT ของจีนด้วยการกล่าวหาว่ามีความเสี่ยงด้านการโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์

นโยบายจีนที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ตลาดที่ยังไม่อิ่มตัว และนโยบายเชิงรุกในต่างประเทศ จะทำให้จีนเป็นผู้ชนะในสงครามเทคโนโลยีในอนาคต แต่สำหรับการรบแบบปกติ (Conventional) แล้ว สหรัฐยังคงมีแต้มต่อเหนือกว่า ทั้งจากเทคโนโลยีด้านการทหารที่ล้ำหน้า และจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่มากกว่า (กว่า 1 หมื่นหัวรบ) ทำให้สหรัฐยังคงเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งด้านแสงยานุภาพทางการทหาร

อย่างไรก็ตาม ในสิบปีข้างหน้า จะเป็นทศวรรษแห่งการสั่งสมหัวรบนิวเคลียร์มากขึ้นเช่นเดียวกับช่วงทศวรรษ 70-80 ที่เป็นยุคสงครามเย็น นอกจากการใช้จ่ายด้านการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเช่นกัน โดยเฉพาะมหาอำนาจอันดับรอง ๆ อย่างรัสเซีย และจีน ขณะที่ชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง และแอฟริกาอาจหันมาสั่งสมอาวุธเคมี ชีวภาพ รวมถึงโดรนที่มีอำนาจทำลายล้างสูงมากขึ้น

เศรษฐกิจแบบ New normal นโยบายการเงินหมดประสิทธิภาพ นโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำแทนการมุ่งเน้นประสิทธิภาพเศรษฐกิจ สังคมสูงวัยในเมือง การผงาดของโลกตะวันออก โลกที่เป็นกลางทางคาร์บอน เทคโนฯ ที่นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ รถยนต์ไฟฟ้า และ Splinternet คือ 10 คำทำนายของโลกในทศวรรษหน้า

ผู้อ่านทุกท่าน เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]