เศรษฐกิจไม่ดีอยู่ที่ใจ

เศรษฐกิจไม่ดีอยู่ที่ใจ

เปิดปีใหม่มามีแต่ข่าวที่ไม่ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกและประเทศอย่างต่อเนื่อง สำนักและหน่วยงานต่างๆ

มีการปรับลดตัวเลขประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจลงมาเรื่อยๆ จนล่าสุด บางสำนักเริ่มพูดถึงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า 2% แล้วนี่ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ไวรัสจะคลี่คลายเมื่อใด การท่องเที่ยวจะพลิกฟื้นกลับมาเมื่อใด การส่งออกจะกลับมาดีขึ้นเมื่อใด อีกทั้งในอนาคตอีก 10 เดือนที่เหลือประเทศไทยยังจะเจอกับปัจจัยอะไรเพิ่มเติมอีก (เช่นเรื่องภัยแล้งหรือสงครามตะวันออกกลาง)

ในมุมมองด้านประชาชนทั่วๆ ไปนั้น เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ประเด็นที่เป็นที่สนใจของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐหรือเอกชนนั้น จะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นอยู่ปากท้อง การมีเงินที่จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมถึงความสามารถในการเก็บออม และการไม่กู้หนี้จนเกินตัว เป็นต้น แต่จริงๆ มีอีกปัจจัยหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามนั้นคือปัญหาด้านจิตใจของประชาชนในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นจึงได้มีนักวิชาการในต่างประเทศที่ได้ทำการศึกษาไว้พอสมควรแล้วว่าในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี หรือถึงขั้นถดถอยนั้นจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในประเทศนั้นอย่างไรบ้าง

งานวิจัยในต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีโอกาสและความเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นอาการของจิตใจที่หดหู่(Depression) มีความกังวลตื่นตระหนกได้ง่ายและอาจจะนำไปสู่ปัญหาการใช้ยา แถมงานวิจัยดังกล่าวยังชี้อีกว่า ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเหล่านี้ยังต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี หลังจากภาวะเศรษฐกิจคลี่คลาย

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกกลุ่มที่ชี้ว่ายิ่งประชาชนกังวลและรับรู้ข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยมากเท่าไร ประชาชนก็จะใช้จ่ายเงินน้อยลงและเก็บหอมรอมริบมากขึ้นของที่มีมูลค่าเยอะ เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย การท่องเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ จะถูกเลื่อนการซื้อออกไป อย่างไรก็ดี มีความน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ถึงแม้ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจะทำให้คนใช้จ่ายน้อยลงแต่การมีความรู้เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจกลับไม่ส่งผลต่อการใช้จ่ายในช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดีแต่อย่างใด

นั้นคือถ้าประชาชนมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอย่างแท้จริง(ไม่ใช่ตื่นตูมตามข่าวที่ออกมา) อีกทั้งตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินของตนเอง (โดยไม่บิดเบือนหรือหลอกตนเอง) ประชาชนจะไม่ลดการใช้จ่ายลงในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี แถมถ้ามีกำลังในการซื้ออยู่กลับกลายเป็นโอกาสในการซื้อของที่ต้องการด้วยอัตราที่ถูกลง ต้องอย่าลืมว่าในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายและใช้เงินมากขึ้นหน่วยงานรัฐบาลรวมถึงร้านค้าต่างๆ ก็จะจัดโปรโมชั่นประเภท “ลด แลก แจก แถม” แบบที่จะไม่ได้มีโอกาสพบเห็นในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ (เช่น แจกคูปองฟรีๆ มูลค่า 1,000 บาทในวันวาเลนไทน์)

มีข้อสันนิษฐานเหมือนกันว่า จริงๆ แล้วการที่มีการพูดคุยประโคมข่าวสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาช้าขึ้นไปอีก เนื่องจากพอประชาชนทั่วไปได้เสพข่าวหรือมีการสนทนาเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ทุกคนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และพอการใช้จ่ายน้อยลงก็ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลงกว่าที่ควร อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้เห็นว่ามีงานวิจัยที่ศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างการลงข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและอัตราการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจ

แถมท้ายด้วยงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่าถ้าหัวหน้าครอบครัวหรือผู้บริหารบริษัทเป็นประเภทที่มีความมั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก อีกทั้งประสบความสำเร็จมาในอดีตก็จะมั่นใจและพร้อมที่จะเสี่ยงที่ไม่จำเป็นมากขึ้น ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจที่ดี คนประเภทนี้อาจจะประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีโอกาสของความล้มเหลวกลับมากกว่าเนื่องจากกล้าที่จะเสี่ยงและเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป

ดังนั้น ช่วงที่เศรษฐกิจของไทยยังไม่มีข่าวดีเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่คนไทยทุกๆ คนต้องทำคือ ฝึกใจให้เข้มแข็งหาความรู้ทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมและตระหนักรู้ในสถานะทางการด้านการเงินของตนเอง ก็อาจจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้