โจทย์หนักสกัด 'โคโรนา' แลกขุมทรัพย์เรือสำราญ

โจทย์หนักสกัด 'โคโรนา'  แลกขุมทรัพย์เรือสำราญ

เป็นกระแสวิพากย์วิจารย์ในโลกโซเชียลที่ผ่านมาเห็นได้จากการติดแฮชแท็ก #Westerdam และ #seabournovation เรือสำราญท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากฮ่องกง

ต่อมาเรือดังกล่าวปรับแผนส่งคำร้องขอเทียบท่าในประเทศไทยแบบเร่งด่วน เนื่องจากถูกปฏิเสธการเข้าเทียบท่าในประเทศเป้าหมายเดิมกำหนดไว้ อย่างญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

เรื่องนี้ร้อนถึงหน่วยงานกำกับดูแลท่าเรือในน่านน้ำไทยอย่างกรมเจ้าท่า เนื่องจากตามกฎหมายแล้วทุกเรือโดยสารและเรือขนส่งสินค้าที่ต้องการจะเทียบท่าเรือในไทยต้องขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าก่อน โดยกระแสดราม่าหนัก เห็นจะเป็นกำหนดเทียบท่าของเรือโดยสาร Westerdam ที่มีผู้โดยสารและลูกเรือรวมประมาณ 2 พันคน และมีการประกาศผ่านเว็บไซต์ของเรือดังกล่าว ว่ามีกำหนดขอเทียบท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 13 ก.พ.2563 ภายหลังถูกปฏิเสธเทียบท่ามาหลายแห่ง

โดยกรมเจ้าท่า ได้มาชี้แจงชัดเจนว่า “ไม่อนุญาต” ให้เรือสำราญ Westerdam เทียบท่าที่แหลมฉบังอย่างแน่นอน ทำให้เรือสำราญ Westerdam ต้องเปลี่ยนแผนไปเทียบท่าที่สีหนุวิลล์ของกัมพูชาแทน

ขณะที่ชาวโซเชียลกำลังติดตามเรือสำราญ Westerdam ในวันเดียวกันนั้น เรือสำราญ Seabourn Ovation ที่เดินทางมาจากฮ่องกง กลับได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต โดยเรือลำนี้ตามโปรแกรมแรก พบว่าไม่มีแผนเดินทางมาไทย ประเทศเป้าหมาย คือ จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์

แต่ระหว่างการเดินทางเรือสำราญ Seabourn Ovation ถูกปฏิเสธเทียบท่าที่ฟิลิปปินส์ จึงมีการปรับแผนใหม่ กำหนดเดินทางมายังเกาะกูด และต่อมาภูเก็ต ซึ่งการจอดเทียบท่าของ 2 เรือสำราญนี้ จะเห็นได้ว่า จุดเริ่มต้นของการเดินเรือต้นทางมาจากฮ่องกงเช่นเดียวกัน และระหว่างทางก็มีการถูกปฏิเสธจอดเทียบท่าจากประเทศเป้าหมายเหมือนกัน จึงหลายเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยถึงมาตรฐานการพิจารณา

วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า คลี่คลายประเด็นนี้ว่า กรมเจ้าท่าอนุญาตให้เรือสำราญ Seabourn Ovation เข้าเทียบท่าที่ภูเก็ต เพราะมีการขออนุญาตเทียบท่ามาก่อนหน้านี้แล้ว โดยตามระเบียบเรือโดยสารที่ต้องการเทียบท่าเรือน่านน้ำไทย จะต้องขออนุญาตเข้ามายังกรมเจ้าท่าไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่เมื่อเทียบกับเรือ Westerdam ไม่ได้มีการขออนุญาตเข้าเทียบท่ามาก่อน

รวมทั้งยืนยันด้วยว่า กรมเจ้าท่ามีมาตรการสกัดไวรัสโคโรนา หรือ ไวรัสโควิด -19 ที่ประชาชนเกรงว่าอาจมีการเล็ดลอดเข้ามาทางเรือจากการโดยสารผ่านเรือสำราญ โดยปัจจุบันทำงานประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบประวัติการเดินทางย้อนหลังของเรือว่ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบประวัติสุขภาพของผู้โดยสารบนเรือ

หากพบมีผู้โดยสารบางรายที่มีอาการป่วย จะต้องทิ้งสมอจอดเรือห่างจากฝั่ง 4 กิโลเมตร ก่อนประสานไปยังเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ตรวจเช็คผู้โดยสารอย่างละเอียด หากได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยจึงจะเข้าเทียบท่าได้

ต้องยอมรับว่า ช่วงเวลาโรคระบาด “กรมเจ้าท่า” ต้องยกระดับการทำงาน เทแรงไปกับการตรวจสอบคุมเข้มเรือโดยสารให้มากขึ้น 

เพราะแว่วว่าในช่วงเดือน ก.พ.นี้ ยังมีเรือสำราญที่ต้องการเทียบท่าอีกมาก เฉพาะท่าเรือภูเก็ตมีจำนวน 17 ลำ แต่หากจะปฏิเสธการเทียบท่าทั้งหมด แน่นอนว่าคงกระทบรายได้ทางการท่องเที่ยวจากขุมทรัพย์เรือสำราญ นักท่องเที่ยวผู้มีกำลังซื้อ