ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างที่ได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย (ใหม่-เก่า)

ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างที่ได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย (ใหม่-เก่า)

พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง'62 (กฎหมายใหม่) ได้รับการประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 30 ก หน้า 21 ในวันที่ 12 มี.ค.62

มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2562 และเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป

หากพิจารณาเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายใหม่แล้วจะพบว่ากฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ (กฎหมายเก่า) ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน การจัดเก็บภาษีตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงสมควรยกเลิกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว และให้ใช้กฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

นอกจากนี้ ตั้งแต่ขณะมีการร่างกฎหมายจวบจนกระทั่งกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษี หน่วยงานอื่นของรัฐและผู้เสียภาษีต่างตื่นตัวและพยายามเตรียมการเพื่อปฏิบัติตนให้สอดคล้องตามที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้

เนื่องจากกฎหมายใหม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการ หลักเกณฑ์ และวิธีการในจัดเก็บภาษีอากรหลายประการ ประกอบกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างหลากหลาย ผู้เสียภาษีจึงสามารถใช้สื่อดังกล่าวในการศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดเก็บภาษีได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ข้อน่าสนใจอย่างหนึ่งของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายใหม่คือที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่มีความแตกต่างจากกฎหมายเก่าอย่างไรบ้าง การเปรียบเทียบดังกล่าวนี้จะต้องพิจารณากฎหมายเก่าร่วมด้วยคือ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่และกฎหมายเก่าสามารถสรุปได้ดังนี้

1.ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินของรัฐ ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐหรือในกิจการสาธารณะโดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์ รวมถึงที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ การประปา การไฟฟ้า หรือการท่าเรือของรัฐ หรือที่ใช้เป็นสนามบินของรัฐ

2.ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ที่ทำการสถานทูต หรือสถานกงสุลของต่างประเทศ

3.ทรัพย์สินขององค์กรสาธารณกุศลและศาสนา โดยเฉพาะสภากาชาดไทย ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใดที่ใช้เฉพาะเพื่อการประกอบศาสนกิจหรือกิจการสาธารณะ หรือทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่ของสงฆ์ นักพรต นักบวช หรือบาทหลวง ไม่ว่าในศาสนาใด หรือทรัพย์สินที่เป็นศาลเจ้า เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะโดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน หรือทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิ หรือองค์การ หรือสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดเฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์

4.ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

ทั้งนี้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่สามารถสรุปได้ดังนี้

5.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินของบุคคลซึ่งได้รับเงินปี พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน

6.ทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางและสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกฎหมายว่าด้วยการเคหะแห่งชาติ

7.ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่ได้ใช้ในกิจการของรัฐวิสาหกิจและยังมิได้ใช้หาประโยชน์

8.ทรัพย์สินของเอกชนที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด เฉพาะส่วนที่ใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เพื่อสาธารณประโยชน์

9.สิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นบ่อสำหรับใช้ในระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกับอาคาร บ่อน้ำที่ใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ ถนน ลานและรั้ว รวมถึงที่ดินที่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิใช้ทำประโยชน์

10.ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ

เมื่อพิจารณาทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างข้างต้นแล้วจะพบว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่ มีความแตกต่างจากกฎหมายเก่าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีการเพิ่มเติมรายการที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี

สำหรับข้อน่าสนใจนี้ผู้เขียนเห็นว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายเก่า รวมถึงการเพิ่มเติมกรณีที่ได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมายใหม่นั้นมีขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี และเหตุผลในเชิงการบริหารราชการแผ่นดินรวมถึงนโยบายภาษีของรัฐบาล

นอกจากนี้การที่กฎหมายใหม่บัญญัติให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอีกหลายกรณีได้รับการยกเว้นภาษีนั้น ย่อมเกิดจากความพยายามของรัฐบาลและหน่วยงานจัดเก็บภาษีที่ต้องการบริหารการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งมีความจำเป็นต้องบริหารการจัดเก็บภาษีให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมให้น้อยที่สุด ดังนั้นกฎหมายใหม่-เก่า จึงเกิดความแตกต่างได้เสมอตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

โดย... 

ผศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์