“Microsoft” เจ้าสังเวียน ดีสรัปชั่น [4]

“Microsoft” เจ้าสังเวียน ดีสรัปชั่น [4]

เมื่อ Bill Gates และ Paul Allen ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ขึ้นในปี 1975 เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการสำหรับติดตั้งในเครื่องพีซี

ซึ่งถูกพัฒนาต่อเนื่องมาเป็น “วินโดว์ (Windows)” นับเป็นดีสรัปชั่นครั้งสำคัญที่พีซีและซอฟต์แวร์ได้เปลี่ยนวิถีการทำงานของผู้คนและธุรกิจ และเปิดฉากใหม่ให้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ผู้คนเข้าถึงได้จากทุกครัวเรือน

ความสำเร็จของไมโครซอฟท์เห็นได้จากยอดขายกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 1997 ด้วยความเพลี่ยงพล้ำจากการก้าวไม่ทันดีสรัปชั่นของอินเตอร์เน็ตและโมบายทำให้ไมโครซอฟท์หลุดภาพเทรนด์การเป็นผู้นำดิจิทัล จนในปี 2014 จึงปรับทัพใหม่นำโดยซีอีโอคนในอย่าง “Satya Nadella” ทำให้สามารถขับเคลื่อนไมโครซอฟท์ให้ก้าวขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่าล้านล้านดอลลาร์ (Trillion Company) ในเดือนเมษายน 2019 ด้วยการเร่งขยายอีโคซิสเต็มสู่ฮาร์ดแวร์และนวัตกรรม AI ตลอดจนคลาวด์คอมพิวติ้ง ส่งผลให้ไมโครซอฟท์กลับมาผงาดพร้อมรุกในสังเวียนดิจิทัลอีกครั้ง

 

ปรับเพื่อแกร่ง

ไมโครซอฟท์ตื่นขึ้นอีกครั้งด้วยยอดขายกว่า 36,900 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ Q2/2020 นับเป็นผลสำเร็จจากการปรับตัวของไมโครซอฟท์ในการขยายอีโคซิสเต็มที่มีอยู่เดิมให้แข็งแกร่งขึ้น ทั้งการปรับการขายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้เป็นลักษณะลิขสิทธิ์ออนไลน์รายปี ในกลุ่มชุดซอฟต์แวร์ธุรกิจ “Microsoft 365” ที่มี “Office 365” ที่ใช้งานแพร่หลาย ตลอดจน “Dynamics 365” ที่นำเสนอแอพพลิเคชั่นด้าน ERP และ CRM จนกลายเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์กลุ่ม “Surface” และการขยายบริการในกลุ่มผลิตภัณฑ์ “Xbox”

การปรับกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์ปรากฎผลชัดขึ้นเมื่ออุปกรณ์กลุ่ม Surface อาทิ Surface Pro,Surface Laptop, Surface Go, Surface Studio และ Surface Earbuds เริ่มเติบโตและอาจสร้างรายได้ถึง1,900 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ Satya ยังกล่าวด้วยว่า “แม้วินโดว์จะเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ แต่ไม่ใช่อนาคตของไมโครซอฟท์” โดยเน้นความสำคัญกับโมเดลการทำงานของ App และการสร้างประสบการณ์ที่ดี (Experience) ให้กับอีโคซิสเต็มของไมโครซอฟท์ผ่านการเชื่อมโยงของ “Microsoft Graph

โดย Microsoft Graph ทำหน้าที่เป็นประตูที่เปิดทางให้ระบบหรือแอพจากภายนอกสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับ Microsoft 365 หรือข้อมูลองค์กรในระดับ Enterprise ช่วยให้การเขียนโปรแกรมผ่านแอพเพื่อเชื่อมเข้ากับผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์สะดวกและเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้แอพหรือ Smart Device จากทุกค่ายสามารถเชื่อมต่อเข้ากับข้อมูลองค์กรในระบบคลาวด์คอมพิวติ้งของไมโครซอฟท์อย่างปลอดภัย

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนทำให้ไมโครซอฟท์สร้างทีมที่ชื่อ “Windows + Devices” และสามารถทำงานกับดิจิทัลต่างค่าย เช่น การใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลในเครื่องสมาร์ทโฟนรุ่นจอคู่ใหม่ “Surface Duo” ซึ่งจะช่วยเปิดการทำงานของผลิตภัณฑ์ไมโครซอฟท์กับแอพในกลุ่มแอนดรอยด์ โดยอาจเปิดตัวพร้อมกับเครื่อง “Surface Neo” ในปีนี้

 

คลาวด์คอมพิวติ้งของโลก

การแข่งขันเพื่อขยายธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งผ่านบริการ “Microsoft Azure” เป็นเป้าหมายสำคัญที่ไมโครซอฟท์มุ่งที่จะเข้าถึงอุปกรณ์เกือบ 50,000 ล้านชิ้นที่จะเชื่อมต่อถึงกันผ่านอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ที่กำลังก่อตัวขึ้น ไมโครซอฟท์จึงเร่งพัฒนาและเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการที่เทียบได้ว่าเป็น “The World’s Computer” ซึ่งจำเป็นที่ต้องรองรับการทำงานของระบบในหลายรูปแบบ (Cross-Platform) และสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์หรือแอพจากเกือบทุกแบรนด์ ซึ่งเป็นตลาดที่คู่แข่งสำคัญอย่าง Amazon AWS, Google Cloud ตลอดจน IBM และ Alibaba ต่างต้องการ

ไมโครซอฟท์ทำรายได้จากคลาวด์คอมพิวติ้งในไตรมาสที่ผ่านมาสูงถึง 11,900 ล้านดอลลาร์หรือ Azure โตถึง 62% โดยยังเน้นถึงบริการด้าน AI และการให้ความรู้ผ่าน “AI Business School” ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมวอยซ์แอสซิสแทนท์อย่าง Cortana, IoT และเทคโนโลยีด้าน Cashierless อีกด้วย

 

LinkedIn และ GitHub

ในปี 2016 ไมโครซอฟท์ได้เข้าซื้อ “LinkedIn” โซเชียลเน็ตเวิร์คของกลุ่ม Professional ที่มูลค่า 26,200 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นในปี 2018 ไมโครซอฟท์ยังเข้าซื้อกิจการของ “GitHub” ที่มูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ โดย GitHub ซึ่งเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์รวมของเหล่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ทุกระดับ มีสมาชิกกว่า 40 ล้านรายและรวมโครงการ (Repository) ติดตั้งในแพลตฟอร์มกว่า 100 ล้านรีโพส การเข้าซื้อกิจการของไมโครซอฟท์จึงเป็นการเข้าถึงผู้คนดิจิทัลและกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพ พร้อมทั้งเปิดทางให้ Microsoft Azure เข้าถึงกลุ่ม Open Source ผ่านบริการที่เพิ่มขึ้น

 

ก้าวที่ยาว และฐานรากที่มั่นคง

ไมโครซอฟท์นำเอาความแข็งแกร่งของซอฟต์แวร์องค์กร (Enterprise) มาขยายอีโคซิสเต็มให้เข้าถึงผู้คนผ่านอุปกรณ์ที่ชื่นชอบไม่ว่าจะเป็นเกมส์ คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน โดยการผสมผสานไลฟ์สไตล์และความบันเทิงเข้ากับข้อมูลและการทำงานระดับองค์กรอย่างแยบยล อีกทั้งยังพลิกเกมส์เข้าสู่ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง IoT และ AI จนสร้างบทพิสูจน์ใหม่แห่งความสำเร็จให้กับเจ้าสังเวียนดีสรัปชั่นที่ไม่หยุดนิ่ง