พิษไวรัสโคโรน่า: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

พิษไวรัสโคโรน่า: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ในขณะนี้คงไม่มีข่าวอะไรที่คนไทยจะสนใจมากไปกว่าไวรัสโคโรน่า เราลองมาดูว่านักวิชาการประเมินผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรน่า

ที่มีผลต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างไร เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบ

การศึกษาในอดีต (Untong et al., 2015. Tourism demand analysis of Chinese arrivals in Thailand. Tourism Economics, 21(6)) พบว่า เมื่อโรคซาร์ส(SARS)ระบาดนั้นมีขนาดความสูญเสียนักท่องเที่ยวต่อเดือนมากที่สุดประมาณ 18% แต่ขนาดความสูญเสียจากโรคระบาดตั้งแต่ SARS ถึงไข้หวัดใหญ่ 2009 (H1N1)มีแนวโน้มความสูญเสียลดลง (ตารางที่ 1) โดยการระบาดของโรคจะมีระยะเวลาของผลกระทบต่อเนื่องในตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 4 เดือน และมีลักษณะแนวโน้มของผลกระทบในแต่ละเดือนแบบระฆังคว่ำดังภาพที่ 1

158148465628

158148469357

สำหรับการประมาณการความสูญเสียของตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนในกรณีการระบาดของไวรัสโคโรน่า ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง คณะพัฒนาการท่องเที่ยว ม.แม่โจ้ ได้ศึกษาผลกระทบของไวรัสโคโรน่า โดยอาศัยข้อสมมติของการประมาณการดังนี้

- พิจารณา 2 กรณี คือ 1) ผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนเหมือนกับ SARS และ 2) กรณีรุนแรงมากถึง 3-4 เท่า ของ SARS(ซึ่งเป็นค่าคาดคะเนของศาสตราจารย์วอร์ริค แมคคิบบิน (Warwick McKibbin)จากมหาวิทยาแห่งชาติออสเตรเลีย)

- ระยะเวลาของผลกระทบเกิดขึ้นเพียง 4 เดือน คือ เดือนม.ค. - เม.ย. ซึ่งเหมือนกับ SARS และโรคระบาดอื่นๆ

- ปี 2562 สัดส่วนกรุ๊ปทัวร์มีประมาณ40%ดังนั้นตามประกาศของรัฐบาลจีน จึงกำหนดให้เดือน ก.พ. - มี.ค. ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มกรุ๊ปทัวร์

- ประมาณการให้ปี 2563 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนขยายตัวประมาณ 3.5% ซึ่งขยายตัวในอัตราลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีอัตราการขยายตัว 4.4%

- ในการประเมินมูลค่าความเสียหายได้ใช้โครงสร้างการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีน และโครงสร้างปัจจัยการผลิตและผลผลิตปี 2560 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาซึ่งเป็นปีล่าสุด

จากข้อสมมติดังกล่าวสามารถประมาณการได้ว่า การระบาดของไวรัสโคโรน่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. 2563 ลดลงประมาณ 1.41-2.47 ล้านคนและทำให้ไทยสูญเสียรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 0.66–1.20 แสนล้านบาท (ตารางที่ 2) และจะสร้างความเสียหายเป็นผลต่อเนื่องให้ระบบเศรษฐกิจไทยอีกประมาณ 1.48–2.69 แสนล้านบาท (หรือประมาณ 0.86-1.56%ของประมาณการ GDP ปี 2563 ที่ประมาณการโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) โดยภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมและที่พักการขายของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และอาหารและเครื่องดื่มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่ผลิตปัจจัยให้กับภาคเศรษฐกิจทั้ง 3 ก็ได้ผลกระทบต่อเนื่องด้วย เช่น การผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น (ภาพที่ 2)

158148471754

แม้ว่ารัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขของเราจะ “เอาอยู่” ผลกระทบก็คงจะยังมหาศาลสำหรับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนี่ยังไม่รู้ว่าแล้งนี้จะเอาน้ำที่ไหนมาให้นักท่องเที่ยวเล่นสงกรานต์

158148474188

บทเรียนของไทยในคราวนี้ก็คือภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวมีความเสี่ยงสูงจึงต้องมีการจัดการที่ดีค่ะ อย่างไรก็ตาม งานนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ใจคนไทยไปเต็ม 100!

โดย...

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ