มั่นใจและถ่อมตนอย่างรู้กาละเทศะ

มั่นใจและถ่อมตนอย่างรู้กาละเทศะ

ในวงการศึกษาบ้านเรามักกังวลกับการสร้างความมั่นใจกล้าแสดงออกให้กับเยาวชนของเรา อาจจะเป็นเพราะค่านิยมไทยแต่โบราณกาล

คนไทยให้ความสำคัญกับการให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสกว่า การรู้จักเกรงใจคน การรู้จักไปลา มาไหว้ ขอบคุณ ขอโทษ อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งค่านิยมต่างๆเหล่านี้อาจจืดจางเลือนหายไปตามกาลเวลาที่วัฒนธรรมไทยถูกผสมและกลืนไปด้วยวัฒนธรรมของชาติอื่นและความรวดเร็วของเทคโนโลยี

คนไทยรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากชาติตะวันตกมีความมั่นใจกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด ผู้นำรุ่นใหม่พึงมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล คิดนอกกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์ท้าทายความเชื่อเก่าๆที่ได้รับการพิสูจน์ทราบแล้วว่าไม่ถูกต้อง กล้ามีความเห็นที่แตกต่างจากผู้อาวุโสกว่า

ถามว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ ควรให้คนไทยรุ่นใหม่มีคุณลักษณะแบบที่กล่าวมานี้หรือไม่ ความเห็นของดิฉันคิดว่าการกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก กล้าท้าทายความคิดโดยไม่จำเป็นต้องท้าทายบุคคลเป็นเรื่องที่ลูกหลาน นักเรียนนิสิตนักศึกษา ลูกจ้าง พนักงานและประชาชนทั่วไปเป็นคุณสมบัติที่ควรมี มิฉะนั้นโลกของเราคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนามาจนทุกวันนี้ หากเราคงยังเชื่อว่าโลกแบน พระอาทิตย์หมุนรอบโลก เราคงไม่ได้มีการส่งยานอวกาศไปสำรวจโลกอื่นเพื่อแสวงหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้ชาวโลกที่ได้ทำลายโลกนี้ไปมากมายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความเห็นแก่ตัว

ประเด็นอยู่ที่ว่าเราควรมีความมั่นใจและความกล้าในการคิด พูด ทำ เพียงใด และแสดงออกอย่างไรจึงจะเหมาะสมพอดีเพื่อสร้างผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถบริหารความมั่นใจและความกล้าได้พอดีๆในทุกสถานการณ์ ผู้นำบางคนมั่นใจจนออกอาการอวดดีก้าวร้าว ขัดแย้งกับคนรอบข้างจนเสียงานและเสียตำแหน่งของตน ในขณะที่ผู้นำอีกหลายคนก็อ่อนน้อมมีมีปากเสียงจนไม่มีจุดยืน เสียงาน เสียความเชื่อถือที่ได้รับจากผู้อื่น

เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยการฝึกอบรมจากผู้มีประสบการณ์ เริ่มจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ เพราะกว่าจะมาถึงมือนายจ้างหรือโค้ชผู้บริหารมันก็อาจจะยากที่จะแก้เพราะสายเกินแกงไปเสียแล้ว เราจึงได้เห็นภาพเด็กเล็กๆในโรงเรียนที่ได้รับการอบรมให้กล้าแสดงออก จนเด็กพยายามแสดงออกซึ่งความสามารถมากเกินไป เป็นการข่มเพื่อนฝูง ยึดเวทีในการแสดงเรียกร้องความสนใจเพียงคนเดียว เมื่อเป็นเด็กจึงอาจจะไม่ถูกตำหนิ คนทั่วไปมองดูแล้วแค่ขำๆว่าเด็กแก่แดด แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ในที่ทำงานหรือในที่ประชุมชนที่ทุกคนรู้ว่าเก่งกล้าสามารถ และเธอหรือเขาคนนั้นยึดเวทีการแสดงปีใหม่ร้องเพลงเต้นรำโชว์อยู่คนเดียว พูดอยู่คนเดียวในที่ประชุมทุกนัดเพราะเชื่อว่าตนเองรู้ดีกว่าคนอื่น

ลองถามดูสิคะว่าคนรอบข้างจะรู้สึกอย่างไร ก็เชื่อว่ามีตั้งแต่  - ชื่นชมเสมอ ดีจังได้เห็นคนเก่งแสดงออก หรือ หมั่นไส้นิดๆว่าช่างโอ้อวดตนเอง รู้แล้วว่าเก่ง แต่ไม่ต้องโชว์ทุกงานได้ไหม หรือ เบื่อเซ็งที่ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นเขาได้แสดงออกบ้าง ถึงคนอื่นไม่เก่งเท่าแต่ให้เขาได้ลองผิดลองถูกเพื่อเรียนรู้บ้างจะได้ไหม หรือ เบื่อและเหม็นหน้าขนาดหนัก เลยต่อต้านเสียเลย

ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้แทนที่จะได้รับความชื่นชมขอบคุณจากคนรอบข้าง กลายเป็นได้รับการต่อต้านแทน คงเคยเห็น เคยเจอใช่ไหมคะผลลัพธ์แบบนี้ ดังนั้นผู้นำทุกท่านจึงควรประเมินคะแนนนิยมที่คนรอบข้างมีต้อท่านเป็นระยะๆว่าความมั่นใจและความถ่อมตนของท่านได้รับการตอบรับอย่างไร จะได้ปรับสมดุลให้เหมาะกับกาลเทศะ

ถ่อมตนดีกว่าอวดตน ในภาพรวมแล้วขอเฉลยว่าสากลโลกบอกว่าการถ่อมตนเป็นเรื่องที่ได้รับความชื่นชอบมากกว่าการอวดตน ไม่จำเป็นต้องอ้างถึงวัฒนธรรมของไทยและเอเซียที่เน้นเรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตนหรอกนะคะ เรื่องนี้เราทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ในโลกตะวันตกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา นักบริหาร ผู้นำตลอดจนนักวิชาการด้านภาวะผู้นำและวัฒนธรรมองค์กรรุ่นลายครามอย่าง "เอ็ดการ์ ไชน์" ก็ได้แต่งหนังสือกับบุตรชายเมื่อสองปีที่แล้วเรื่อง “ผู้นำถ่อมตน – พลังแห่งสัมพันธภาพ ความเปิดเผย และความไว้วางใจ” (Humble Leadership: The Power of Relationships, Openness, and Trust) 

พวกเขาได้แสดงมุมมองว่าช่องว่างระหว่างผู้นำและลูกน้องมันหดตัวเล็กลงเรื่อยๆ ภาวะผู้นำที่ดีคือการมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิด มีความเป็นส่วนตัวกับลูกน้อง มีการสื่อสารแบบเปิดและเชื่อใจระหว่างกันซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้ การประสานงาน การแก้ปัญหาต่างๆและการสร้างนวัตกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ผู้นำในยุคดิจิทัลต้องมีจินตนาการใหม่ออกนอกกรอบแนวคิดดั้งเดิม ต้องตระหนักว่าในยุคนี้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในทีม การสื่อสาร ที่ได้รับผลกระทบจากความรวดเร็วของเทคโนโลยี ความหลากหลายของพนักงาน (Diversity) และความแตกต่างของวัฒนธรรมต่างๆที่อยู่ในและนอกองค์กรที่ล้วนเรียกร้องให้ผู้นำต้องมีความถ่อมตน เปิดใจที่จะเข้าใจว่าปัจจัยต่างๆเหล่านี้มีผลกระทบต่อความคิด ความต้องการและกระบวนการทำงานของทีมอย่างไร

ผู้นำทุกระดับต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีความยืดหยุ่น (Agility) ของความคิดและการทำงาน ให้เกียรติลูกทีม กระตุ้นให้คนคิดต่าง ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกทีมรู้สึกมั่นใจ สบายใจและปลอดภัยที่จะคิดต่าง ลองผิดลองถูกโดยผู้นำลดบทบาทการนำ การสั่ง การควบคุม แต่เพิ่มบทบาทเป็นผู้สนับสนุนและให้คำปรึกษาเพื่อสร้างโอกาสให้ลูกทีมได้คิด พูด ทำเต็มศักยภาพ

ซึ่งบทบาทใหม่นี้ท้าทายและยากกว่าบทบาทเดิมๆ ที่ผู้นำหลายคนชินกับการผูกขาดทางความคิดและการตัดสินใจ ไม่ไว้ใจใครนอกจากตนเอง เป็นนักสมบูรณ์แบบนิยม (Perfectionist) ทนความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆไม่ได้ ลักษณะแบบนี้ทำให้มั่นใจในตนเองมากจนกลายเป็นคนอวดตน เห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง เปิดใจยาก นำไปสู่พฤติกรรมชอบควบคุม หนักเข้าก็ชอบสั่งการ เพราะคิดว่ามันคงเร็วกว่าการมานั่งประชุมฟังความเห็นที่แตกต่าง

แต่ก็ไม่จริงเสมอไปถ้าเจอการต่อต้านเงียบจากลูกทีมหรือเพื่อนร่วมงาน การชอบควบคุม ชอบสั่ง ไม่ช่วยส่งเสริมความยืดหยุ่นให้กับตนเอง ทีมงานและองค์กร ซึ่งในยุคดิจิทัลนี้ต้องการความยืดหยุ่นมาก เพราะอะไรๆก็เปลี่ยนแปลงเร็วแบบไม่ทันตั้งตัวเสมอ ผู้นำที่รู้จักถ่อมตน ยอมรับว่าตนเองไม่รู้ ไม่เก่งทุกอย่าง จะรับฟังมากขึ้น มีมุมมองที่กว้างขึ้น ให้อภัยตนเองและคนอื่นได้มากขึ้น รับความผิดพลาดได้มากขึ้น ปรับตัวแก้ไขปัญหาความผิดพลาดได้เร็วขึ้น

รู้จักกาลเทศะ (Timeliness) คำๆนี้สะกดไม่ยากแต่สอนยาก แปลว่ารู้ว่าควรทำอะไรที่เหมาะสมกับบุคคลหรือสถานการณ์ต่างๆ เช่น ควรสวมชุดดำไปงานร่วมศพ ไม่ควรใส่ชุดดำไปงานแต่งงานผู้ที่มีเชื้อสายไทยและจีน แต่ฝรั่งจะไม่ค่อยถือกัน รู้จักพูดจาสื่อสารกับชาวชนบทโดยหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาต่างชาติ ศัพท์ทางวิชาการยากๆ รู้จักไหว้ทักสวัสดีเมื่อพบคนไทย โค้งเมื่อพบคนญี่ปุ่น เป็นต้น

เรื่องหลายเรื่องของกาลเทศะเป็นเรื่องของความเชื่อ ความนิยมของคนในแต่ละสังคม ไม่ใช่เรื่องผิดถูก แต่หลายเรื่องก็เป็นเรื่องของผิดถูกที่ต้องศึกษาท่องจำว่าในวงการนี้อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด เช่น ไม่ควรดื่มสุราในที่ประชุมชนในบางวัฒนธรรมหากท่านกำลังไปติดต่อทำธุรกิจในสังคมนั้น เป็นต้น ผู้นำที่ปรับตัวเก่งคือผู้ที่รู้กาลเทศะ เนื่องจากในสัปดาห์นี้เราเน้นเรื่องของความมั่นใจและความถ่อมตน

จึงขอคุยเรื่องกาลเทศะสำหรับการแสดงความมั่นใจและถ่อมตนเป็นหลักนะคะ มีโอกาสจะคุยเรื่องกาลเทศะอย่างละเอียดในครั้งต่อไป โดยทั่วไปสังคมยกย่องเอ็นดูผู้นำที่รู้จักถ่อมตนมากกว่าอวดตน เป็นเรื่องสมควรที่ผู้นำเก่งๆไม่ควรอวดตัวเองมากเกินไป แต่ในสถานการณ์ที่ต้องแสดงความสามารถในงาน ต้องนำเสนองาน ก็จงมีความมั่นใจที่จะนำเสนอความสำเร็จที่ได้รับการยกย่อง แสดงรางวัลที่ได้รับให้ลูกค้าหรือผู้ที่รับฟังอยู่รู้สึกมั่นใจเชื่อถือในคุณภาพของตัวเรา งานของเราและองค์กรของเรา

แต่การแสดงความสามารถไม่ได้หมายถึงการบอกว่าผู้อื่นหรือคู่แข่งไม่มีคุณสมบัติหรือไม่มีความสามารถอย่างไร หลีกเลี่ยงการวิจารณ์ผู้อื่นในทางลบ การนำเสนอปัจจัยที่สถาบันที่รับรองมาตรฐานงานให้ผู้ฟังได้ทราบและชี้แจงว่างานของเราได้รับมาตรฐานในปัจจัยบ้างเป็นเรื่องควรทำ ส่วนผู้อื่นขาดมาตรฐานในปัจจัยใด ให้คนฟังตัดสินเอง ไม่ต้องไปจี้จุดจับผิด เว้นแต่ได้รับการเรียกร้องให้ชี้แจงเปรียบเทียบ ก็ทำด้วยหน้าตา น้ำเสียงธรรมดาๆ ไม่เหยียดหยามเยาะเย้ยดูถูกผู้ที่ด้อยกว่า ถือเป็นมารยาทที่ผู้นำพึงรักษา พึงตระหนักว่า สังคมไทยไม่นิยมผู้ชนะที่เหยียบย่ำผู้อื่น เผลอๆอาจเห็นใจและไปเทใจให้ผู้แพ้ก็ได้

อยากทราบว่าตนเองเป็นผู้นำที่มีความมั่นใจและถ่อมตนเหมาะสมหรือไม่ ให้ลองสอบถามความเห็นคนใกล้ตัวที่ไว้ใจที่บ้าน ที่โรงเรียนและที่ทำงานได้ การรับฟังคำประเมินอย่างเปิดใจเป็นก้าวแรกของความถ่อมตน...เพื่อความเจริญในวันหน้าค่ะ