ข้อมูลของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ

ข้อมูลของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ

เคยคุยกับลูกชายที่เป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ว่า มีปัญหาในการทำวิจัยบ้างหรือไม่ ลูกบอกว่า เรื่องทำวิจัยไม่มีปัญหา

แต่ปัญหาคือการได้มาซึ่งข้อมูลที่จะใช้ในการทำวิจัย เพราะผู้ป่วยมักไม่ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ถ้าเอาไปทำวิจัยโดยไม่ได้รับความยินยอมอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ และรายงานผลการวิจัยก็จะไม่ได้รับการตีพิมพ์ตรงนี้ เป็นมาตรฐานของสำนักพิมพ์วารสารวิชาการทางการแพทย์ทั่วโลก

เรื่องนี้ ค่อนข้างสำคัญ เพราะเป็นเรื่องละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กรณี Cambridge Analytica ที่เอาข้อมูลจาก Facebook ไปวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ก็ถูกฟ้องร้องจนถูกปรับเป็นเงินมหาศาล แต่นั่นเป็นเรื่องทางการเมืองสำหรับเรื่องสุขภาพ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิดให้ดีๆ เพราะข้อมูลด้านสุขภาพจะมีประโยชน์อย่างมากในการป้องกันและรักษาพยาบาลผู้ป่วยยิ่งรู้ล่วงหน้าเร็วเท่าไร โอกาสที่จะแก้ไขก่อนสายเกินไปก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ที่สหรัฐ มีการร่วมทีมทำงานระหว่าง Google กับ Northwestern Medicine ใช้ข้อมูลผู้เข้ารับการตรวจคลื่นสมอง CT scan เพื่อตรวจหาโอกาสที่จะเกิดมะเร็งปอด จากข้อมูลที่รวบรวมโดยเครื่องมือที่เรียกว่า machine learning กว่า 40,000 คน ทำให้ตรวจพบผู้ที่เข้าข่ายจะเป็นมะเร็งปอดได้มากกว่าให้นักรังสีวิทยา (Radiologists) วิเคราะห์ถึง 5% และโอกาสผิดพลาดน้อยลงถึง 11%

เรื่องนี้ สภา Congress ของสหรัฐให้ความสำคัญอย่างมาก และมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองทั้งเรื่องสิทธิส่วนบุคคลและการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ถูกปิดกั้นจนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ คือ กฎหมาย Health Information Technology for Economic and Clinical Health Act ในปี 2009

แต่ประเทศไทยดูเหมือนยังไม่ได้มองด้านการนำเทคโนโลยีข้อมูลมาใช้เพื่อการวิจัยมากนักแต่เน้นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล และความมั่นคงของประเทศมากกว่าข้อมูลประชาชนที่มารับการรักษาพยาบาลหรือตรวจสุขภาพก่อนเจ็บป่วยเป็นเรื่องสำคัญ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านสุขภาพโดย Health Startup ไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่มีข้อมูลจากผู้ป่วยมาใช้วิเคราะห์

เคยเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพด้าน health tech พบว่าปัญหาอยู่ที่กฎหมายไม่เปิดช่อง หน่วยงานราชการก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากให้ข้อมูลในรูปไฟล์ pdf ที่ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ด้วย machine learning จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าถ้าประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางของโลกหรือภูมิภาคในด้านบริการดูแลสุขภาพรักษาพยาบาล แต่ถ้ายังปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์วิจัยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆก็คงเป็นเรื่องยากที่จะก้าวไปถึงจุดนั้นนอกจากเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเท่านั้นเอง