สร้างความคิดจิตใจแบบอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง (Survivor Mentality

สร้างความคิดจิตใจแบบอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง (Survivor Mentality

เราอยู่ในโลกที่ยากลำบาก ที่ทุกคนมีโอกาสเจอปัญหา อุปสรรค การเปลี่ยนแปลงในทางลบอยู่เสมอ

 คนที่รู้จักพัฒนาบุคลิกนิสัย ความคิด จิตใจให้เข้มแข็ง จะเป็นคนที่อยู่รอดอย่างมีความสุขได้ดีกว่าคนอื่นๆ

คนที่เอาตัวรอดได้เก่ง (Survivor) คือคนมีบุคลิกอุปนิสัยในการเรียนรู้ที่จะมองโลกในแง่บวกอย่างสมจริง มีความมั่นใจ รับผิดชอบตัวเอง เผชิญหน้า/รับมือเอาชนะปัญหาสถานการณ์ที่ยากลำบาก (รวมทั้งด้านจิตใจ)ได้ดี และแม้จะเจอปัญหาก็ฟื้นตัวกลับคืนมาสู่สภาพปกติได้เร็ว

คนที่มีบุคลิกอุปนิสัยที่ตรงกันข้าม- Victim Mentality คือคนที่มีความคิด จิตใจ หรือบุคลิกนิสัยแบบชอบคิดว่าตนเป็นเหยื่อของคนอื่น/ของโลก ตัวเองไม่มีอำนาจที่จะทำอะไรได้ เป็นผู้ถูกกระทำจากคนอื่น ทั้งๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริงหรือที่ตนเองคิดหรือเชื่อไปเองว่าคนอื่นๆ ตั้งใจทำ เป็นคนที่มองโลกในแง่ลบ ชอบทำให้ตัวเองดูน่าสงสาร และชอบโทษแต่คนอื่นและสถานการณ์ภายนอก

การมีบุคลิกอุปนิสัย หรือความคิดจิตใจแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ใช่เกิดมาจากกรรมพันธุ์หรือเป็นเรื่องที่จะติดตัวคนใดคนหนึ่งตลอดไป เป็นเรื่องที่เกิดมาจากพัฒนาการของชีวิตในวัยเด็ก และวิธีการเรียนรู้ที่จัดการกับปัญหาของคนแต่ละคน ถ้าหากใครสนใจอ่านเพื่อหาความรู้ความเข้าใจปัญหาทางจิตวิทยาของมนุษย์ในเชิงวิเคราะห์ตัวเองได้ จะสามารถฝึกฝนการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้เป็นคนที่มีบุคลิกนิสัยแบบอยู่รอดด้วยตัวเอง ที่มีส่วนดีกว่ามากได้

การวิเคราะห์ว่าตนเองมีบุคลิกนิสัยแบบชอบคิดว่าตนเป็นเหยื่อหรือไม่ ให้สังเกตจากพฤติกรรม เช่น การถือว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง มองโลกในแง่ร้าย เวลารู้สึกทุกข์ยาก ไม่พึงพอใจ ชอบโทษคนอื่นหรือสถานการณ์ ชอบคิดว่าโชคชะตาชอบกลั่นแกล้งชีวิตของตนอยู่เรื่อย เวลาเกิดปัญหา ชอบขยายความให้เป็นเรื่องใหญ่โตเกินความเป็นจริง คิดว่าคนอื่นตั้งใจทำร้ายตน คิดว่าตนคือคนเดียวที่เป็นเป้า ชอบระลึกถึงความทรงจำที่เจ็บปวดที่ทำให้ตนเองรู้สึกเหมือนเป็นเหยื่อ มีนิสัยชอบบ่น ชอบโจมตี และกล่าวหาคนใกล้ชิดว่าทำให้ตนเองรู้สึกแย่ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่จะไปเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่างๆ ได้ มักคิดว่าถูกโจมตี เมื่อถูกใครวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เชื่อว่าคนอื่นๆ นั้น ประสบความสำเร็จมากกว่าตนเอง ฯลฯ (บทความใน http:lonerwolf.com ให้แนววิเคราะห์ไว้ถึง 23 ข้อ)

นักจิตวิทยาอธิบายว่า การที่คนจำนวนหนึ่งชอบคงไว้ซึ่งบุคลิกนิสัยแบบชอบคิดว่าตนเป็นเหยื่อ เพราะมันช่วยให้คนๆ นั้น ไม่ต้องรับผิดชอบ ทำให้คนใกล้ชิดรู้สึกสงสารและคอยเอาใจใส่ ไม่ค่อยกล้าวิจารณ์หรือคอยระมัดระวังที่จะไม่ทำให้คนๆ นั้นโกรธ คนแบบนี้เชื่อว่าตัวเองมีสิทธิที่จะได้สิ่งที่ตนเองเรียกร้อง การเล่าเรื่องแบบขยายความปัญหาของตนเองทำให้ตนเองมีสิ่งที่น่าสนใจ แต่การได้ประโยชน์ส่วนตัวในแง่เหล่านี้กลับเป็นผลร้ายต่อคนใกล้ชิดและเพื่อนคนอื่นๆ และแท้จริงแล้วเป็นผลประโยชน์ที่บิดเบือน ที่เป็นผลร้ายต่อพัฒนาการทางความคิดจิตใจและอารมณ์ของเจ้าตัวเอง และคนอื่นก็ไม่ค่อยอยากสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนแบบนี้ ขณะที่คนที่มีบุคลิกนิสัยแบบเอาตัวรอดได้อย่างรับผิดชอบตัวเอง จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีสุขภาพจิตที่ดีกว่า และรับมือแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่า คนอยากคบหาสมาคมด้วยมากกว่า

นักจิตวิทยาเสนอว่า วิธีการที่จะฝึกฝนการเปลี่ยนแปลงบุคลิกนิสัยเชิงลบแบบชอบคิดว่าตนเป็นเหยื่อไป มีบุคลิกนิสัยเชิงบวกแบบเอาตัวรอด มีอย่างน้อย 8 ข้อคือ 1. เปลี่ยนวิธีคิด วิธีพูดแบบอ้างคนอื่นเป็นอ้างตัวเอง คือแทนที่จะพูด “คุณทำให้ฉันโกรธ” ให้พูดว่า “ฉันรู้สึกโกรธ เมื่อได้ยินคุณพูดอย่างนั้น” นี่คือการพูดถึงตัวเองตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องเริ่มด้วยการโจมตีคนอื่น

2.ให้มองตนเองว่าเป็นผู้อยู่รอด(Survivor) ไม่ใช่เหยื่อ ผู้อยู่รอดยอมรับชะตาชีวิตอย่างที่เป็น อยู่กับปัจจุบัน มองโลกในแง่ดีอย่างสมจริง พยายามที่ควบคุม จัดการแก้ไขปัญหาของตนเอง การฝึกมองว่าตัวเองเป็นผู้อยู่รอด จะช่วยให้คุณรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องชีวิตดีขึ้น และผู้คนอยากคบหากับคุณมากกว่า

3.ให้ความรู้สึกรัก เมตตาตนเอง คิดว่าชีวิตตนเองสมควรที่จะมีความสุข มีสุขภาพที่ดี สนใจที่จะดูแลพัฒนาสุขภาพกายและใจตนเอง ไม่ใช่หลงตัวเอง สงสารตนเอง คนที่เคยมีประสบการณ์เป็นเหยื่อจริงๆ รวมทั้งทางอารมณ์ในวัยเด็ก อาจทำได้ยากหน่อย แต่การศึกษาหาความรู้ทางจิตวิทยา จิตเวช หรือปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา สามารถช่วยได้ เพราะสิ่งที่สำคัญคือวิธีที่คุณคิดรู้สึกในปัจจุบัน ไม่ใช่อดีตที่ผ่านไปแล้ว

4.สำรวจความเชื่อที่ผิดพลาดของคุณเอง เช่น เชื่อว่าตัวเองมีโชคร้ายในทุกเรื่องเสมอ หรือไปคิดเอาเองว่าคนอื่นชอบมองเราในแง่ร้าย ฯลฯ ทำให้เราเกิดความกังวล ความซึมเศร้า ความโกรธ และการกล่าวโทษคนอื่น ถ้าเราเข้าใจว่านี่เป็นความเชื่อที่ผิดพลาด ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เราก็จะลดการมีปัญหาทางอารมณ์ลงได้

5.ตั้งคำถามตนเองว่าความคิดอะไรที่ทำให้คุณทุกข์ทรมาน? คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อความคิดที่อยู่ในหัวคุณเองความคิดเป็นเพียงการขึ้นลงของพลังงานที่เราเป็นคนตีความว่ามีความหมายอย่างไรฝึกการเจริญสมาธิ ใช้สติในการตรวจสอบพิจารณาความคิดของเราว่าความคิดอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกทุกข์ทรมาน และเราไม่จำเป็นต้องเชื่อความคิดนั้นๆ

6.ฝึกขอบคุณสิ่งต่างๆแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่ช่วยจะทำให้คุณรู้สึกดี จดลำดับเรื่องราว บันทึกไว้ในใจหรือเขียนถึงสิ่งที่ช่วยทำให้คุณรู้สึกอยากขอบคุณไว้ มันจะช่วยเตือนให้คุณรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้เลวร้ายเท่าที่คุณคิดในตอนแรก

7.ยืนยันความรับผิดชอบด้วยตนเองตรวจสอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าการที่คุณเรียกร้องความเห็นใจจากคนอื่น ทำให้คุณรู้สึกว่าตนเองพิเศษและกลายเป็นคนที่ชอบชี้นิ้วสั่งคนอื่นหรือไม่ คุณอาจใช้วิธีการยืนยันตัวเอง เช่น พูดกับตัวเองว่า “ฉันรับผิดชอบต่อชีวิตของฉัน” “ฉันมีอำนาจมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้” เพื่อที่จะเปลี่ยนโปรแกรมความต้องการที่จะเล่นบทบาทเป็นเหยื่อโดยไม่ได้มีจิตสำนึก คิดถึงเรื่องที่คุณเคยทำอะไรสำเร็จมาในอดีต สร้างความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น

8.พยายามเข้าใจและเมตตาต่อคนอื่น คนที่ชอบเล่นบทบาทว่าตัวเองเป็นเหยื่อคือคนที่เน้นแต่การคิดถึงตัวเอง การฝึกคิดถึงคนอื่นเช่นคนที่คุณรัก และทำดีกับเขา จะทำให้คุณเองรู้สึกดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องบงการหรือเรียกร้องจากคนอื่น

การพัฒนาบุคลิกนิสัยแบบอยู่รอดได้ด้วยตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสุขภาพจิตให้เข้มแข็ง ไม่เพียงแต่เพื่อการอยู่รอดในโลกที่ยากลำบากเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คนที่พัฒนาบุคลิกนิสัยแบบนี้ได้เจริญงอกงาม (Thriving) ทางด้านความคิดจิตใจ มีความสุข ความพอใจ ความสำเร็จ ความรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายด้วย ถ้าเราส่งเสริมให้สังคมมีคนแบบนี้มากขึ้น สังคมไทยโดยรวมก็จะมีโอกาสพัฒนาได้ดีขึ้น