ข้อคิดจากสัญญาณดอกเบี้ย กนง.

ข้อคิดจากสัญญาณดอกเบี้ย กนง.

เมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.25

 เป็น ร้อยละ 1.00 ต่อปี ให้มีผลทันที ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ไม่ได้เป็นสิ่งที่เหนือการคาดหมายของตลาดการเงิน ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นรับข่าวการลดอัตราดอกเบี้ย ต่อมาหนึ่งวัน สถานีโทรทัศน์ CNBC(ซีเอ็นบีซี) รายการ Squawk Box ได้ติดต่อขอความเห็นผมในเรื่องนี้ วันนี้เลยอยากจะนำข้อคิดและความเห็นต่างๆ ที่ได้ให้ไปมาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

1.จากเอกสารแถลงข่าวของ กนง. ชัดเจนว่า กนง.ตระหนักดีถึง เศรษฐกิจปีนี้ที่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวที่จะกระทบการส่งออก การระบาดของไข้หวัดอู่ฮั่น ที่จะกระทบการท่องเที่ยว ภาวะภัยแล้งที่จะกระทบการผลิตและรายได้ของภาคการเกษตร รวมถึง ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่นอกจากจะเป็นข้อจำกัดให้งบประมาณประจำปีของประเทศไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันเวลาแล้ว การจัดสรรงบประมาณที่ได้เตรียมไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็อาจไม่พร้อมต่อการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะไม่ได้มีการประเมินและจัดสรรงบประมาณเตรียมไว้ล่วงหน้า ทำให้ประสิทธิภาพของนโยบายการคลังจะยิ่งลดลงเทียบกับปัญหาที่ต้องแก้ไข ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศที่ใช้แก้ปัญหาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จึงเหมือนการตัดสินใจเข้ามารองรับหรือแก้ไขการชะลอตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะได้ประเมินแล้วว่า ปัจจัยลบที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจปีนี้ จะทำให้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะชะลอมากกว่าคาด ที่สำคัญ เมื่อเศรษฐกิจชะลอ อัตราเงินเฟ้อก็จะชะลอมากกว่าที่ประเมินไว้เช่นกัน ประกอบกับล่าสุด ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับลดลงจากผลของหลายปัจจัย ทำให้ กนง.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อปีนี้จะลดลงต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และอาจลดลงต่ำกว่าขอบด้านล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ ทำให้มีเหตุผลที่ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นเพื่อเร่งให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาในระดับที่เป็นเป้าหมาย เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่บางส่วนในตลาดการเงินได้คาดการณ์ไว้

2.เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ก่อนการปรับลดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ต้องถือว่าต่ำมากในฐานะต้นทุนทางการเงิน ประกอบกับสภาพคล่องในระบบการเงินปัจจุบันก็ไม่เป็นปัญหา คือ ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องดี ดังนั้น ผลที่หวังจากการปรับลดคราวนี้ คงไม่ใช่แรงกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่จะมากับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิมอีกร้อยละ 0.25 แต่ประโยชน์สำคัญของการลดดอกเบี้ยจะมาในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจ ที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยให้ต้นทุนชำระหนี้ของผู้ที่มีหนี้อยู่ลดลง เป็นการบรรเทาผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่อความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งภาคธุรกิจ ครัวเรือน และธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในตลาดที่ปรับลงจะเอื้อต่อการชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้

ผมว่า อันนี้คือเหตุผลสำคัญของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยคราวนี้ ที่มาเร็วกว่าที่หลายคนคาด เพราะชัดเจนว่า กนง.มีความห่วงใยในเสถียรภาพเศรษฐกิจพอๆ กับหรืออาจมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในฐานะธนาคารกลางของประเทศ ให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นบริษัทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือในภาคครัวเรือน ซึ่งสำคัญต่อการรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะการผิดนัดชำระหนี้ ถ้าเกิดขึ้นในวงกว้างมักจะเป็นสัญญาณแรกๆ ของความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี

อย่างไรก็ตาม กนง.ก็ตระหนัก ผลที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ จากการทำธุรกรรมทางการเงินที่จะสุ่มเสี่ยงมากขึ้น เพราะการพยายามหาผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้นจากสินทรัพย์ที่มี (Search for yield) เช่น นำเงินฝากที่ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า แต่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น การลงทุนนอกระบบการเงิน หรือลดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไปสู่เงินฝากในสถาบันประเภทอื่นแทน รวมถึงใช้ประโยชน์ของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากไปต่อยอดหรือลงทุนในลักษณะเก็งกำไรเพื่อหาผลตอบแทน เป็นความเสี่ยงที่จะมีมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องติดตามและดูแลไม่ให้เกิดเป็นความเสี่ยงต่อระบบ

3.อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับร้อยละ 1.0 เป็นอัตรานโยบายระดับต่ำสุดที่เศรษฐกิจไม่เคยมี ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2551 – 2552 ที่ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยลงเกือบศูนย์ และออกมาตรการคิวอีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ก็ไม่เคยลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ด้วยสองเหตุผล 

หนึ่ง ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.0 เป็นระดับที่ผ่อนคลายมากสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเศรษฐกิจให้สามารถปรับตัวได้กับปัจจัยลบภายนอกที่เกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นพร้อมกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือร้อยละ 1.0 ก็คือต้องดูแลให้ระบบการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อการกู้ยืมของผู้ที่ต้องการ และทำให้ผู้ที่ต้องการสภาพคล่องสามารถเข้าถึงสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยต่ำนี้ได้อย่างทั่วถึง เป็นปัญหาของการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่าปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยแพง ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ควรตามการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยของ กนง.อย่างทันทีและพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลง

สอง นโยบายการเงินอย่างเดียวคงช่วยเศรษฐกิจไม่ได้มาก แต่นโยบายการคลัง คือ การใช้จ่ายและการเก็บภาษีของภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน เพราะนโยบายการคลัง คือ มาตรการอีกด้านของนโยบายเศรษฐกิจ ที่ต้องทำคู่ขนานไปกับนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นและช่วยเศรษฐกิจในการปรับตัว แต่ที่ผ่านมา นโยบายการคลังทำน้อยมาก และมีปัญหามาก จนปัจจุบัน เศรษฐกิจยังไม่ได้ประโยชน์จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งๆ ที่ได้เก็บภาษีจากประชาชนไปก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว เพราะความล่าช้าของการเตรียมและอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญที่สุดของนักการเมือง แต่ก็ยังทำไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องพยายามทำอะไรไปก่อนเท่าที่จะทำได้ แต่ก็เลือกวิธีการใช้จ่ายหรือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ คิดถึงแต่เหตุผลของการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของการหาเสียงทางการเมืองมากกว่าจะใช้เงินภาษีของประเทศแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจึงไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นที่ยอมรับและ หวังผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ สะท้อนถึงข้อจำกัดทั้งวิธีคิดและความจริงใจในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล

ขณะนี้ สิ่งที่นักลงทุนและตลาดการเงินกำลังติดตามหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. คือรัฐบาลผ่านทางกระทรวงการคลังจะทำอะไรต่อหรือไม่ที่จะสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนในความสามารถของการบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่จะทำให้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเดินไปในทางเดียวกัน ทั้งในเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การจัดสรรสภาพคล่องที่มีอยู่ให้ถึงมือธุรกิจเอสเอ็มอี และการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ที่จะสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลเข้าใจในสิ่งที่ต้องทำและคุมเกมเศรษฐกิจได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและคนทั้งประเทศ 

นี่คือข้อคิดที่ได้ให้ไป