ความเชื่อ... ที่ไม่อยากจะเชื่อ

 ความเชื่อ... ที่ไม่อยากจะเชื่อ

เมื่อคน 34.000 คน จาก 28 ชาติทั่วโลก ส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องหนึ่งเหมือนกัน ความเชื่อนั้นทำให้น่าหวั่นใจยิ่งนัก

พวกเขาเชื่อว่า เก่งและดี ไม่มีจริง

 ประเทศไทยเรา พยายามปลุกกระแสนี้มานาน คือพยายามสร้าง คนเก่งและคนดี แต่ก็เห็นผลค่อนข้างน้อย

 เพราะพาดหัวข่าวมีให้เห็นเกือบทุกวันว่า คนที่มีอำนาจในภาคการเมือง ภาคราชการ รวมทั้งภาคธุรกิจ เขาโกงกินกันเรื่องอะไรบ้าง บางเรื่องก็เหลือเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เช่นโกงเงินคนยากไร้ หรือโกงงบประมาณอาหารเด็กนักเรียน เป็นต้น

 พอมาเห็น การวิจัย จากสำนักประชาสัมพันธ์ Edelman ที่สัมภาษณ์คนจำนวนมากจากทั่วโลก ได้ผลออกมาเป็นเช่นนี้ ด้านหนึ่งเราก็อาจจะรู้สึกดีขึ้นนิดนึง ว่าไทยไม่ใช่ชาติเดียวเท่านั้น ที่คงจะสอบตกเรื่องนี้ แต่ว่าสอบตกกันแทบทั้งโลก

 แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นความเชื่อ ที่ผมไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นไปแล้วจริงๆ

 สำนักงาน Edelman ได้ทำการวิจัยมาทุกปี ต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว และได้เปิดเผยรายงานครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 ก่อนการประชุม World Economic Forum ที่กรุง Davos ประเทศ Switzerland ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 นี้เอง

 สำนักงานแห่งนี้ วัดค่าตัวชี้วัดเพียง 2 เรื่อง คือเรื่อง ความสามารถ (Competency) กับ จริยธรรม (Ethics) แล้วนำคำตอบจากคน 34,000 คน มาพล็อตลงบนกราฟ ที่มีสองแกน คือ แกน X กับ แกน Y

 แกนนอน (แกน X ) วัดค่าของ ความสามารถ ซึ่งมีค่าซ้ายสุดที่ -50 ส่วนขวาสุด มีค่า +50 และแกนตั้ง (แกน Y) วัดค่าของ จริยธรรม จาก บนสุด มีค่าเป็น +35 ถึงล่างสุด มีค่า -35 ส่วนจุดที่ แกน X กับแกน Y ตัดกัน มีค่า = (0,0) เหมือนกราฟที่เราคุ้นเคยกันทั่วไป

 การวิจัยนี้ ได้ขอให้กลุ่มตัวอย่างตอบคำถามว่า พวกเขาเชื่อว่า องค์กรหลัก 4 ประเภท ได้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคสื่อมวลชน และภาค NGOs มีความสามารถ (Competency) และ จริยธรรม (Ethics) ในระดับใด

 แน่นอนว่า ถ้าได้คะแนนเป็นบวกทั้งสองด้าน คะแนนก็จะไปตกอยู่ในพื้นที่ด้านบนขวาของกราฟ ซึ่งเราก็ปราถนาอยากเห็นเช่นนั้น แต่ถ้าไปตกอยู่ในพื้นที่ ด้านซ้ายล่างของกราฟ ก็แปลว่าติดลบทั้งสองเรื่อง หรือสอบตกทั้งสองด้าน

 ผลที่ออกมาทำให้น่าผิดหวังอย่างยิ่งครับ เพราะไม่มีกลุ่มใดเลย ที่มีคะแนนอยู่ในพื้นที่ด้านบนขวา และพื้นที่ส่วนนั้นว่างเปล่า ขาวสะอาดอย่างไม่พึงประสงค์ และน่าจะทำให้เราทั้งหลาย รู้สึกว่างเปล่าและเศร้าใจเช่นกัน

 เมื่อดีที่สุดไม่มีให้เราเห็น ก็เลยต้องลุ้นต่อว่า มีกลุ่มใดไหม ที่สอบผ่านสักหนึ่งด้าน คือมีคะแนนใด คะแนนหนึ่ง ที่เป็นบวก

 มีครับ คือกลุ่ม  NGOs ได้คะแนนจริยธรรม ปริ่มๆขึ้นไปทางบวกเล็กน้อย ที่ 12 แต่ก็สอบตกในเรื่องของ ความสามารถ เพราะได้คะแนน ติดลบ 4

 ส่วนภาคธุรกิจ ได้คะแนนบวกปริ่มๆ ในเรื่องความสามารถ ที่ 14 แต่สอบตกเล็กน้อยในเรื่องจริยธรรม คือได้ ลบ 2

 ที่ต้องกังวลอย่างมากก็คือ ภาคสื่อมวลชน และ ภาครัฐ ซึ่งสอบตกทั้งสองด้าน โดยภาคสื่อมวลชน ได้คะแนน ความสามารถและจริยธรรม ที่ ลบ 17 และ ลบ 7 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มที่สอบตกหนักที่สุด ก็คือภาครัฐ ซึ่งคะแนนความสามารถ และจริยธรรม อยู่ที่ ลบ 40 และ ลบ 19 ตามลำดับ

 พูดง่ายๆก็คือ ทั้งภาครัฐ และ ภาคสื่อมวลชน อยู่ในพื้นที่ด้านล่างซ้ายของกราฟ ที่เราไม่ปรารถนาจะเห็นนั่นเอง

 การวิจัยครั้งนี้ เก็บข้อมูลระหว่าง 19 ตุลาคม - 18 พฤศจิกายน 2562 ถือว่าเป็นข้อมูลที่สะท้อนความเป็นปัจจุบันได้มากที่สุด และผลของการวิจัยของสำนัก Edelman ก็ไม่ต้องตีความหมายอ้อมค้อม เพราะแปลได้ตรงๆว่า คนส่วนใหญ่ทั่วโลก มีความเชื่อว่าภาครัฐ และ ภาคสื่อมวลชน สอบตกในสองประเด็นนี้

 ถ้าหากเราไม่คิดอะไรมาก ก็คงไม่ต้องทำอะไร เพราะสามารถปลอบตัวเองได้ว่าประชาชนชาติอื่นเขาก็มอง ภาครัฐ และภาคสื่อมวลชน ไม่ได้ต่างจากเรานัก แต่ผมว่าเราคงปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้ ใครที่มีบทบาทอยู่ภาคไหน ก็ต้องรับโจทย์ ไปทำกันต่อครับ ทั้งนี้รวมถึง ภาคธุรกิจ และ เอ็นจีโอ ด้วยครับ

 ลืมบอกไปว่า ส่วนหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้ ได้เจาะลึกลงไปในคำตอบของแต่ละประเทศ ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจอย่างงหนึ่งก็คือ ได้สอบถามเรื่อง ความรู้สึกหวาดกลัว ว่าจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง (Fear Being Left Behind) ซึ่งปรากฎว่าประชาชนจาก 28 ชาตินั้น มีถึง 21 ชาติ ที่รู้สึกเช่นนี้เกินครึ่ง

 ชาวอินเดีย มีความกังวลเรื่องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง มากสุดที่ 75% และไล่ลงมาตามลำดับจนถึงชาวเกาหลีใต้ ที่ 51% ส่วนคนไทยก็ติดกลุ่มนี้ ในระดับค่อนข้างสูงเช่นกัน คือมีคนไทย 64% ที่กลัวว่าตนเองจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 เมื่อวานนี้ ผมนั่งรถไปทำงานตอนเช้า มองเห็นรถปิคอัพข้างหน้า บรรทุกคนงาน 6-7 คนไปทำงาน ทุกคนนั่งหันไปด้านหน้ารถ ยกเว้นคนงานหญิงคนเดียว เธอนั่งหันหน้ามาทางรถผมที่กำลังขับตาม

 ทำให้ผมเห็นดวงตาของเธอที่เหม่อลอย วันนี้เธอกำลังจะเริ่มต้นการใช้แรงงาน และทำงานหนักกลางแสงแดดเปรี้ยง เธอน่าจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ หรือถ้าสูงกว่านั้นก็คงไม่มากนัก แต่ยังไงก็น้อยกว่าค่าอาหารกลางวันของนักธุรกิจ หรือ นักการเมืองบางคนในตอนเที่ยงวันนี้อย่างแน่นอน

 คนที่มีอำนาจทั้งหลาย เห็นภาพอย่างนี้ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ทุกวี่วัน คำถามของผมก็คือ... แล้วท่านยังจะคิดโกงคนไทยตาดำๆอย่างนี้ และทิ้งเธอไว้ข้างหลัง ได้ลงคออีกหรือครับ