ขยะพลาสติก สร้างเขื่อน แก้น้ำท่วมฝนแล้ง

ขยะพลาสติก สร้างเขื่อน แก้น้ำท่วมฝนแล้ง

ตั้งแต่เซเว่น-อีเลฟเว่น พยายามเลิกแจกถุงพลาสติก สังคมก็มีทัศนะที่แตกต่างกันไปมากมาย

เรามาดูกันว่าเมืองนอกเขาทำกันอย่างไรและนำมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างไรด้วย

ผู้เขียนเคยพาคณะไปดูงานการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมืองในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์และมาเลเซีย ได้พบเห็นการกำจัดขยะและการนำสิ่งที่เหลือจากการกำจัดมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้อีกด้วย ในกรณีไทย เรายังสามารถนำมาสร้างเขื่อนแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากได้อีกเช่นกัน เรามาศึกษากันดูว่าเราจะแปลงสิ่งที่เป็นลบให้เป็นบวกได้อย่างไร

ยิ่งในปัจจุบันมีปัญหาฝุ่นจิ๋วส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง บางท่านอาจนำมาพัวพันกับปัญหาการกำจัดขยะ ทำให้แนวทางการเผาขยะกลายเป็นสิ่งต้องห้าม แต่แท้จริงแล้วประเทศเพื่อนบ้านเผาขยะอย่างมีประสิทธิผลและปราศจากมลพิษได้อย่างไร และถึงแม้ว่า กทม. สั่งให้รถทุกคันหยุดวิ่งสัก 10 วันก็อาจไม่ทำให้ฝุ่นพิษหายไป เพราะฝุ่นพิษเกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นและแพร่กระจายอย่างหนักทั่วอาเซียน โดยเฉพาะในกัมพูชา ลาว พม่าและไทย

ทำนองเดียวกับสิงคโปร์ ในยามที่มีปัญหาหมอกควันซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกปี ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากเช่นกัน สมมติว่าสิงคโปร์หยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ก่อให้เกิดควันและฝุ่น ห้ามรถวิ่งในสิงคโปร์ ปิดโรงงานสัก 1 เดือน ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เนื่องจากหมอกควันเหล่านั้นมาจากการเผาป่าในเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย แล้วพัดพามาถึงสิงคโปร์นั่นเอง ลำพังการฉีดน้ำเป็นฝอยๆ ก็ไม่อาจช่วยอะไรได้มากนัก จะแก้ไขปัญหาได้ จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะเมืองใดเมืองหนึ่งที่จะทำ หาไม่เราก็จะแก้ไขปัญหาแบบไร้ทิศผิดทางไป

สำหรับญี่ปุ่น ในแต่ละปี มีขยะพลาสติกประมาณ 9 ล้านตัน โดยนำไปรีไซเคิล 84% ผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ 1. การแปรรูปเป็นวัสดุอื่น เช่น นำไปทำเก้าอี้นั่งตามสถานีรถไฟ ญี่ปุ่นใช้วิธีการนี้ประมาณ 23% แต่เมื่อหมุนเวียนมากๆ คุณภาพพลาสติกจะยิ่งลดลงและใช้ได้ยากขึ้น 2. รีไซเคิลทางเคมี คือ การนำไปสลายโมเลกุลให้เป็นวัตถุดิบพลาสติกอีก แต่ในกรณีนี้นี้ก็ดำเนินการได้ยากเช่นกัน และปัจจุบันทำแค่เพียง 4% เท่านั้น ส่วนวิธีที่ 3 คือการเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน โดยการส่งเข้าเตาเผาและนำความร้อนไปใช้ประโยชน์ เช่น ผลิตไฟฟ้า ให้ความอุ่นแก่สระน้ำ ญี่ปุ่นทำส่วนนี้ 57% ของปริมาณทั้งหมดที่รีไซเคิล

158096557570

โรงงานกำจัดขยะโตชิมา หรือ The Toshima Incineration Plant (豊島清掃工場) ตั้งอยู่ในเขตคามิ-อิเคบูคูโร เมืองโชติมาในมหานครโตเกียว่ มีพื้นที่ประมาณ 7.5 ไร่เท่านั้น สามารถกำจัดขยะได้ประมาณ 400 ตันต่อวัน ในโรงงานแห่งนี้มีสถานออกกำลังกาย (Fitness Center) ขนาดใหญ่เพื่อเอาใจประชาชนโดยรอบ สระว่ายน้ำระบบน้ำอุ่นที่เอาความร้อนมาจากการกำจัดขยะ นอกจากนี้โรงงานแห่งนี้ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 7,800 กิโลวัตต์ ใช้สำหรับครัวเรือนในพื้นที่โดยรอบได้ราว 20,000 หลัง ทั้งนี้ปล่องของโรงงานแห่งนี้มีความสูงถึง 210 เมตร

สำหรับในสิงคโปร์ ก็มีการเผาขยะเพื่อสร้างพลังงานความร้อน มีการนำขยะไปถมทะเลเพื่อสร้างเกาะโดยมีเกาะแห่งหนึ่งชื่อ Palau Semakau  ตั้งอยู่ห่างจากสิงคโปร์ไปทางใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ขยะจำนวนมากที่ผ่านการบำบัดแล้ว ได้ถูกนำมาทิ้งที่เกาะแห่งนี้ มีการก่อสร้างถนนกว้าง 10 เมตรบนเกาะ มีการปลูกต้นไม้มากมายเพื่อให้แลดูสงบร่มรื่น ท่านที่สนใจสามารถให้ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์พาไปทัศนศึกษาได้ ขณะนี้อาจกล่าวได้ว่าเกาะแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่แปลกตาหรือ Unseen ในสิงคโปร์ไปแล้ว

ไต้หวันก็ใช้ถุงพลาสติกกันเกร่อไม่แพ้ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่เขานำพลาสติกไปแปรรูปเป็น POLLI-Bricks ซึ่งสามารถเป็นวัสดุก่อสร้างที่แข็งแรง และสามารถนำไปใช้ร่วมกับวัสดุอื่นได้อีกด้วย 

ประเทศที่ก้าวหน้ากว่าไทย เขาไม่ได้ “บ้าจี้” ตามกระแสของพวกเอ็นจีโอที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมแต่ทำลายโอกาสของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ให้ต้องยุ่งยากกับการมีภาระเสียต้นทุนในการจัดการกับขยะด้วยตนเอง แต่กำจัดขยะโดยส่วนรวม และให้เกิดผลดีต่อส่วนรวม

ในประเทศไทย ก็มีการรณรงค์ให้ใช้กระทงจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายเช่น ต้นกล้วย ขนมปัง แต่ในความเป็นจริง วัสดุเหล่านี้เน่าเสีย ส่งผลต่อปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำลำคลองในระหว่างการย่อยสลายตามความเข้าใจของพวก “โลกสวย” ครั้งหนึ่งนายสมัคร สุนทรเวช ก็พยายามส่งเสริมให้มีการลอยกระทงในสวนสาธารณะด้วยกระทงโฟม ซึ่งจัดเก็บได้ง่าย ไม่จมน้ำเหมือนวัสดุธรรมชาติที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียของน้ำ และยังสามารถนำโฟมที่เก็บได้ไปใช้ประโยชน์ทางอื่น เช่น เป็นส่วนผสมของวัสดุในการซ่อมแซมถนน เป็นต้น

ในโลกนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่มากมายที่สร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ บ้างก็อยู่บนยอดของเนินเขา เพื่อการไหลเวียนของน้ำ แล้วเอามาผลิตไฟฟ้า ในมลรัฐมิสซูรี สหรัฐ มีเขื่อนชื่อ Taum Sauk ใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า และกักเก็บน้ำไว้ใช้ ปรากฏว่าครั้งหนึ่งได้แตกของทางมุมหนึ่ง น้ำไหลทะลักจนป่าไม้โดยรอบพังทลายไปในพริบตา บ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำพัดพังเสียหาย แต่ในที่สุดก็ได้ก่อสร้างใหม่ให้แข็งแรงกว่าเก่า นี่ถ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คงถูกสาปส่งไปแล้ว

ในยุคปัจจุบัน หากเราสามารถนำขยะไปย่อยสลาย ทำไฟฟ้าไว้ใช้อย่างในญี่ปุ่น สิงคโปร์และอื่นๆ แล้วนำส่วนที่เหลือไปสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนขนาดใหญ่ในบริเวณภาคกลางตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็จะสามารถใช้เป็นสถานที่กักเก็บน้ำได้ โดยไม่ต้องไปนำดินจากที่อื่นมาก่อสร้างเขื่อน แต่อย่างใด ยิ่งหากสามารถสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้ ก็ยิ่งกักเก็บน้ำได้มาก ในหน้าฝน ก็จะได้กักเก็บน้ำไว้ป้องกันน้ำท่วม ส่วนในหน้าแล้ง ก็จะสามารถนำน้ำสำรองเหล่านี้มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

  การสร้างเขื่อนด้วยสิ่งแปรรูปของพลาสติกด้วยประสบการณ์จากนานาชาติ น่าจะทำให้เกิดประโยชน์หลายทาง ทั้งในการจัดการขยะ การชลประทาน การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง และทำให้เศรษฐกิจของชาติได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง