ยุคทรัมป์นิยม

ยุคทรัมป์นิยม

ปีนี้ผู้มีความสนใจในด้านการเมืองมีโอกาสวิจารณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอีกครั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้

คาดได้ล่วงหน้าว่าจะมีความเข้มข้นเป็นพิเศษ ปัจจัยหลักมาจากตัวประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะลงสนามในฐานะตัวแทนของพรรคริพับลิกันอีกครั้ง เขาเป็นเสมือนตัวใส่ไฟให้เกิดความเข้มข้นเพราะในช่วงเวลากว่า 3 ปีที่บริหารประเทศ เขาทำอะไรต่อมิอะไรที่ต่างออกไปมากจากแนวของประธานาธิบดีคนที่ผ่านๆ มาจนบางทีมีผู้มองว่า สหรัฐตกอยู่ภายใต้ ลัทธิทรัมป์นิยม” (Trumpism) อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าลัทธิทรัมป์นิยมคืออะไร มักได้รับคำตอบที่ไม่กระชับและแน่นอนนัก

แนวหนึ่งมองว่าองค์ประกอบของลัทธิทรัมป์นิยม คือการเมืองแบบก่อให้เกิดความแตกแยกภายในสังคมอเมริกันผ่านนโยบายและพฤติกรรมของนายทรัมป์เป็นหลัก นโยบายของนายทรัมป์หลายอย่างสร้างความลิงโลดใจให้คนบางกลุ่มพร้อมกับสร้างความขุ่นข้องหมองใจสูงให้อีกหลายกลุ่ม เช่น การลดสวัสดิการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะของผู้มีรายได้น้อย การเอาใจนายทุน การลดมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อม การทำสงครามการค้า การปิดประเทศสำหรับประชาชนจากหลายประเทศ และการสนับสนุนให้แต่งตั้งเฉพาะผู้พิพากษาที่มีแนวคิดเชิงอนุรักษ์สูง หรือแบบที่เรียกกันว่าขวาตกขอบ

นโยบายเหล่านี้ถูกทำให้มีพิษร้ายยิ่งขึ้นด้วยพฤติกรรมของนายทรัมป์เอง เช่น พูดจาแบบเหยียดหยาม สามหาว คุยโว ดูแคลนผู้เห็นต่าง เผชิญหน้า ท้าทาย ใช้ข้อมูลเท็จ หรือโกหกจนเป็นนิสัยและใช้สื่อสังคมทวิตเตอร์ออกความเห็น ขับเคลื่อนนโยบายและโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มีแนวที่มองว่า ความไม่อยู่กับร่องกับรอยของนายทรัมป์คือปัจจัยหลัก ทั้งนี้เพราะข้อมูลชี้ว่าเขาเปลี่ยนจุดยืนในด้านต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ในชีวิตด้านการเมืองไม่ถึง 25 ปี เขาเปลี่ยนพรรคการเมืองกลับไปกลับมาถึง 5 ครั้งก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในฐานะตัวแทนของพรรคริพับลิกัน ในการบริหารงานรายวันหลังเลือกตั้งแล้วก็เช่นกัน ปรากฏการณ์สำคัญอันเป็นผลของความไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยของเขาได้แก่ รัฐมนตรีและที่ปรึกษาระดับสูงอยู่ได้ไม่นาน ไม่ลาออกก็ถูกปลดจนดูเสมือนว่ารัฐบาลอเมริกันแทบไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากเล่นเก้าอี้ดนตรีในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

อนึ่ง การพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวและหลีกเลี่ยงที่จะพูดความจริงเป็นสิ่งที่ยอมรับกันว่า มีอยู่ทั่วไปในแวดวงนักการเมือง หรือมองว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ของการเป็นนักการเมือง แต่ในกรณีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สันทัดกรณีเริ่มมองทันทีจากวันที่เขาเข้ารับตำแหน่งว่า ใช้วิธีโกหกแบบหน้าตาเฉย ด้วยเหตุนี้จึงมีกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งในวงการสื่อเกิดขึ้นในกรุงวอชิงตัน นั่นคือ ในแต่ละวัน สื่อจะนับว่านายทรัมป์โกหกและบิดเบือนความจริงกี่ครั้ง หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เป็นสำนักหนึ่งซึ่งทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลา 3 ปี สื่อสำนักนี้ชี้ว่า นายทรัมป์ทำเช่นนั้นเฉลี่ยวันละราว 15 ครั้ง

แน่ละ นายทรัมป์จะไม่ยอมรับว่าตัวโกหกและบิดเบือนความจริง เมื่อถูกสื่อถามซึ่งๆ หน้าก็มักโจมตีกลับว่าเป็นเรื่อง ข่าวปลอมกุขึ้นโดยสำนักสื่อที่มีสถานะต่ำ แม้จะถูกแย้งด้วยข้อมูล แต่นายทรัมป์ก็มักตอกย้ำจุดยืนเดิมจนสื่อหลายสำนักพากันมองว่า เป้าหมายที่นายทรัมป์ทำเช่นนั้นก็เพื่อสื่อถึงฐานทางการเมืองของเขาเท่านั้น ทั้งนี้เพราะชาวอเมริกันกลุ่มนี้จะเชื่อทุกอย่างที่นายทรัมป์พูด ด้วยเหตุนี้ จึงอาจมองได้ว่าคนอเมริกันนับร้อยล้านคนเชื่อข่าวปลอมซึ่งกุขึ้นมาโดยนายทรัมป์เอง

อนึ่ง นายทรัมป์คงทำดังกล่าวไม่ได้ หากไม่มีเทคโนโลยีร่วมสมัยที่ใช้สื่อสารไปถึงฐานเสียงได้ภายในพริบตา หลังจากนั้น ฐานเสียงอาจส่งต่อข้อมูลไปในสื่อสังคมออนไลน์เนื่องจากในยุคนี้เทคโนโลยีเอื้อให้ทุกคนมีศักยภาพในการแพร่ข่าวสารได้ภายในพริบตา นั่นคือที่มาของปรากฏการณ์ข่าวปลอมทั่วโลกซึ่งกำลังสร้างความเสียหายร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ อาจมองได้ว่าลัทธิทรัมป์นิยมอีกหนึ่งด้านได้แก่การใช้เทคโนโลยีซึ่งมีคำสาปแฝงอยู่โดยผู้ไร้จรรยาบรรณเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลเท็จทั้งโดยตั้งใจและโดยไม่ได้ตั้งใจ