ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต

ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต

คำว่า “รายได้” และ “ทรัพย์สิน” มักเป็นคำที่ผุดขึ้นมาเวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สิน เป็นแค่อาการปลายทางที่เกิดจากเหตุต้นทางสารพัด หนำซ้ำ เหตุต้นทางเหล่านี้ยังอยู่กับเราตลอดชีวิต และอาจชักนำให้เหตุอื่นเข้าในชีวิตด้วยเช่นกัน

บทความ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของ ศาสตรจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ก่อนที่เราจะลืมตาดูโลก อยู่กับเราไปในทุกช่วงชีวิต และจากตามติดเราจนถึงวันที่เราลาจากโลกนี้ไป ถ้อยคำบางส่วนจากบทความของท่านสามารถสะท้อนให้เห็นเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

“เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก...”

“ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวของผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น...”

“ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า คนได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม...”

“ผมต้องการสุขภาพอนามัยดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคฟรีกับบริการทางการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูก อย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก...”

“ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธ์สำหรับดื่ม...”

“เมื่อผมแก่ ผมและเมียก็ควรได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงมาตลอด...เมื่อตายแล้วยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใจในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต...”

“ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน...นี่แหละคือความหมายของชีวิต นี่และคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดประโยชน์ของทุกคน”

การสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งที่ 42 ของคณะเศรษฐศาสตร์ เรื่อง ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ : เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต ที่จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศออกมาได้อย่างชัดเจนว่า ความท้ายทายในการทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยนั้น หากไม่ได้เอาตัวรายได้มาเป็นเกณฑ์ ก็ยังมีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ลึกซึ้งอย่างน้อย 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำที่ครอบคลุม ทันเวลา และสามารถชี้ปัญหาได้ตรงจุด ในทุกมิติของคุณภาพชีวิต ที่จะรวมเอาสุขภาพกาย สุขภาพจิต สภาพทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความสามารถในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันเข้ามาประเมินด้วย เทคโนโลยีก็สามารถเข้ามามีบทบาทในการประเมินความเหลื่อมล้ำได้ เช่น การใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลหรือภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วย โดยมีข้อได้เปรียบคือ สามารถทำการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างเป็นปัจจุบัน รวมถึงการแก้ปัญหาในประเด็นเร่งด่วนที่อาจส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ มลพิษ

เรื่องที่ 2 คือ ความเหลื่อมล้ำต้นทางสามารถส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในช่วงที่เหลือของชีวิตได้ เด็กที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ครอบครัวมีเวลาเอาใจใส่ ย่อมมีพัฒนาการดีตามวัย เมื่อถึงวัยเรียนก็จะเรียนหนังสือได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงพอ สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนและครูได้ การเรียนดี วุฒิภาวะดี ย่อมมีโอกาสค้นพบความชอบความถนัดของตน จึงเลือกเรียนในสายที่เหมาะกับตนเองได้ จบออกมาย่อมมีโอกาสได้ทำงานตรงสาย มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง เมื่อเป็นคนเก่ง โอกาสก็มา รายได้ก็มี ชีวิตเลยดีขึ้น

เรื่องสุดท้าย คือ ความเหลื่อมล้ำที่มากับวัย อายุที่เพิ่มขึ้น กำลังกายย่อมถดถอย เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย ในขณะที่ความสามารถในการหารายได้ลดลง ดังนั้น คนที่เคยคิดว่าตนเองไม่เข้าข่ายกลุ่มเหลื่อมล้ำในขณะที่มีกำลังวังชาดี เมื่อตนอายุมากขึ้น รายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอจะรักษาคุณภาพชีวิตของตนให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ ความเหลื่อมล้ำที่มาเยือนในยามชรา เป็นความเหลื่อมล้ำที่น่าหวั่นใจยิ่งกว่าความเหลื่อมล้ำตอนที่ยังพอมีกำลังวังชาทำโน่นทำนี่ได้

ประสบการณ์การพัฒนาประเทศทั่วโลกได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า กลไกที่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว อาจไม่ใช่กลไกที่ดีในการกระจายความกินดีอยู่ดี ตราบใดที่เรายังไม่เข้าในสถานการณ์ของประเทศได้มากพอ กลไกเสริมเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังคงเป็นแค่ภาพราง ๆ ท่ามกลางฝุ่นพีเอ็ม 2.5