การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing)

การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing)

ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ศาลไทยพยายามผลักดันระบบการยื่นคำฟ้อง หรือคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ประสงค์จะฟ้องคดีโดยไม่ต้องเดินทางมายังศาล ศาลยุติธรรมนับเป็นศาลแรกที่บุกเบิกเรื่องการยื่นฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยประธานศาลฎีกาได้ออกข้อกำหนดว่าด้วยการยื่น ส่ง และรับคำคู่ความและเอกสารทางระบบรับส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 และได้มีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (ผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งานระบบได้ที่ https://efiling.coj.go.th)

สำหรับศาลปกครองได้เริ่มเปิดใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Litigation Portal) ในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมาตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.2562 จากนั้นในช่วงปลายปีจึงได้เริ่มเปิดใช้ในศาลปกครองชั้นต้นอีก 14 แห่งที่กระจายอยู่ตามภูมิภาค ได้แก่ ศาลปกครองเชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก ระยอง นครศรีธรรมราช อุดรธานี อุบลราชธานี เพชรบุรี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ภูเก็ต และยะลา (ผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งานระบบได้ที่ https://elitigation.admincourt.go.th)

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลล่าสุด ที่เปิดให้มีการยื่นคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) โดยข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 4 ได้ให้นิยามของ คำร้องหมายความว่า คำร้องหรือหนังสือที่ยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย โดยจะทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ปกติการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทำได้ 3 วิธี 1. การยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นยื่นแทน 2. การส่งทางไปรษณีย์ และ 3. การส่งทางระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่ศาลกำหนด (ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 17 วรรคหนึ่ง)

การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็คือ การยื่นโดยส่งทาง “ระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเป็นระบบงานที่ศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีขึ้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมตั้งแต่การยื่นคำร้อง เอกสารประกอบคำร้อง หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 4) ทั้งนี้ เมื่อลองเข้าไปสำรวจระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์ที่ www.constitutionalcourt.or.th แล้ว พบว่ามีการแบ่งประเภทผู้ยื่นคำร้องเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก ได้แก่ บุคคลทั่วไป ซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องในคดีที่ขอให้วินิจฉัยสั่งการให้บุคคลเลิกการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (รัฐธรรมนูญ ม.49) คดีที่ฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการในสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐ (รัฐธรรมนูญ ม.51) และคดีที่ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญ ม.213)

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ พรรคการเมือง ซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องในคดีเกี่ยวกับการคัดค้านมติ คำสั่ง ประกาศ หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เช่น การคัดค้านมติไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและมติให้เพิกถอนข้อบังคับของพรรคการเมือง (ม.17) การคัดค้านคำสั่งให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ (ม.22) การคัดค้านประกาศให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพ (ม.91) เป็นต้น

กลุ่มสุดท้าย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ เช่น คดีที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระขอให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ (รัฐธรรมนูญ ม.210 (2)) คดีที่ศาลยุติธรรม ศาลทหาร หรือศาลปกครองขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี (รัฐธรรมนูญ ม.212) คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี (รัฐธรรมนูญ ม.170) คดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ ม.231) เป็นต้น

การที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดให้สามารถยื่นคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คู่กรณี โดยเฉพาะผู้ร้องอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระของผู้ร้องที่ไม่ต้องเดินทางมาศาลแล้ว ผู้ที่ยื่นคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ต้องจัดทำสำเนาคำร้อง เอกสารประกอบคำร้อง และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลอีก ต่างจากกรณีการยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือการส่งทางไปรษณีย์ที่ต้องส่งทั้งต้นฉบับเอกสารพร้อมสำเนาที่รับรองความถูกต้องจำนวน 9 ชุดด้วย (ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 15)

อนึ่ง การยื่นคำร้องต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ โดยกรณีที่เป็นการยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นยื่นแทนไม่เป็นปัญหา แต่กรณีที่เป็นการส่งทางไปรษณีย์ กฎหมายให้ถือ “วันที่ไปรษณีย์ลงทะเบียนรับ” เป็นวันที่ยื่นคำร้องต่อศาล ส่วนกรณีการส่งทางระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่า วันที่ข้อมูลเข้าสู่ระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์ เป็นวันที่ยื่นคำร้องต่อศาล แต่ถ้าเป็นการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบนอกเวลาทำการ (08.30-16.30น.) ให้ถือว่าเป็นการยื่นต่อศาลในวันทำการถัดไป (ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 17 วรรคสาม และวรรคสี่)

เป็นอันว่า ณ ขณะนี้ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ตลอดจนศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดใช้ระบบการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยพร้อมเพรียงกันแล้ว คงต้องติดตามต่อไปว่าในอนาคต ศาลทหารจะมีการเปิดใช้ระบบการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยหรือไม่

โดย... 

อนุชา อชิรเสนา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์