บทเรียนจากโรคระบาดกับธุรกิจท่องเที่ยว

บทเรียนจากโรคระบาดกับธุรกิจท่องเที่ยว

‘เงินทองของมายา... ข้าวปลาสิของจริง’ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

รายได้หลักอันหนึ่งของประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศในโลกโลกาภิวัตน์ คือธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับธุรกิจท่องเที่ยวในหลายประเทศทั่วโลกก็คือ นักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และจากปัญหาโรคระบาดไวรัสโคโรนา ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า ยามเมื่อนักท่องเที่ยวจีนซบเซา ไม่ว่าจะเป็นเพราะเขาไม่มาหรือเราไม่ให้เขาเข้ามา ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างรุนแรง จนเกิดปัญหาทาง 2 แพร่งในการตัดสินนโยบาย นั่นคือ ระหว่างไม่รับนักท่องเที่ยวจีนเพื่อป้องกันโรคระบาดแพร่เข้ามา กับ ยังรับอยู่เพราะไม่ต้องการให้เศรษฐกิจฟุบ  

วิธีคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศในแบบที่ต้องการให้เงินไหลเข้าประเทศ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 ก็คือ การขยายการขายสินค้าให้มากกว่าตลาดภายในประเทศ นั่นคือการส่งออก โดยเชื่อว่า แหล่งที่มาของความมั่งคั่งก็คือการค้าหรือการแลกเปลี่ยน และเงินคือสัญลักษณ์หรือตัวแทนชนิดเดียวที่เป็นศูนย์รวมของความมั่งคั่ง 

ระบบพาณิชย์นิยมเชื่อในเรื่องดุลการค้าโดยกล่าวว่าประเทศหนึ่งจะมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้ ประเทศนั้นต้องมีการส่งออกมากกว่านำเข้า ซึ่งหมายถึงเงินจำนวนนับล้านๆจ ะไหลเข้าสู่ประเทศ แต่ถ้าเกิดขึ้นในทางกลับกันก็หมายถึงว่า ประเทศนั้นกำลังประสบกับภาวะขาดทุนการค้า ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากการที่เงินและทองจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศภายหลังการค้นพบทวีปอเมริกา ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับความสัมพันธ์ทางการค้าในยุคสมัยนั้น และทำให้คนเริ่มคิดถึงลักษณะของกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้น ขณะเดียวกันความพยายามของรัฐบาลที่จะลดค่าของเงินเหรียญสกุลของตนลง โดยหวังว่าจะเพิ่มความมั่งคั่งให้กับประเทศโดยความเชื่อในทฤษฎีการค้าพาณิชย์ 

อย่างไรก็ตาม ระบบคิดแบบพาณิชย์นิยมก็มีข้อผิดพลาดที่เชื่อว่า ความมั่งคั่งจะได้มาก็ด้วยการค้าขายเท่านั้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังตลาดภายนอกประเทศ เพื่อให้เงินไหลกลับเข้ามาในประเทศ ซึ่งความผิดพลาดที่ว่านี้ก็เป็นเรื่องจริง เพราะความมั่งคั่งไม่ได้เกิดจากหนทางที่ว่านี้เท่านั้น แต่ยังมีแนวทางอื่นๆ อีก 

นักคิดแนวเศรษฐศาสตร์ ในช่วงศตวรรษที่ 17 จนถึงเจ้าพ่อเศรษฐศาสตร์ สมัยใหม่ ตัวจริง เสียงจริงอย่าง อาดัม สมิธ คงจินตนาการไม่ถึงว่า การนำเงินเข้าประเทศมหาศาลไม่จำเป็นต้องส่งสินค้าออกไปขาย แต่กลับกลายเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวที่นำเงินเข้าประเทศได้อย่างไม่มีใครคาดคิด แต่การขายการท่องเที่ยวนั้น ก็น่าจะมีความเสี่ยงมากกว่าการขายข้าวปลาอาหาร ซึ่งเป็นของจำเป็นมากกว่าการท่องเที่ยว ไม่เที่ยวไม่ลำบาก แต่ขาดข้าวปลาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หรืออุปกรณ์สร้างบ้าน พาหนะ อุปกรณ์การสื่อสารลำบากแน่ 

ดังนั้น ความสามารถในการผลิตหรือส่งออกข้าวปลาอาหารและของจำเป็นต่างๆที่ว่ามาน่าจะมั่นคงมากกว่าการหวังพึ่งการขายการท่องเที่ยวเป็นหลัก และแม้ว่า หากส่งออกข้าวปลาอาหารไม่ได้มาก มันก็ยังเก็บเอาไว้กินไว้ใช้ภายในประเทศได้ แต่ยามขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และพยายามส่งเสริมให้คนภายในประเทศเที่ยวในประเทศ มันก็ไม่ได้ง่ายนักและไม่มีปริมาณมาก อีกทั้งมันช่วยแค่ให้เกิดเงินหมุนเวียนภายในประเทศ ไม่ได้มีเงินไหลจากข้างนอกเข้ามา และยิ่งถ้าเศรษฐกิจคนในประเทศไม่ดี ก็ยิ่งหวังยากที่จะให้คนเหล่านั้นไปจับจ่ายเที่ยวเตร่ ประเทศไทยเราอาจจะภาคภูมิใจที่ล่าสุด กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอันดับหนึ่งที่คนมาเที่ยวมากที่สุดในโลก 

158087512277

แต่ถ้าพิจารณาประเทศฝรั่งเศสที่มาเป็นอันดับสองต่อจากไทย จะพบว่า จากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเขา ฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลกประเภทของอุตสาหกรรมที่เป็นที่มาของความสำเร็จดังกล่าวได้แก่ อุตสาหกรรมทางด้านการขนส่งโทรคมนาคม อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยา รวมไปถึงภาคธนาคาร การประกันภัย การท่องเที่ยว และสินค้าฟุ่มเฟือย (เครื่องหนังเสื้อผ้าสำเร็จรูปน้ำหอมและเหล้า) 

จากฝรั่งเศสโดดข้ามไปตุรกี ที่เป็นอันดับท้ายสุดใน 10 อันดับประเทศที่มีคนมาเที่ยวมากที่สุดจะพบว่า สินค้าออกสำคัญของตุรกี ได้แก่เสื้อผ้า สิ่งทอ ยานยนต์ และอะไหล่ ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์อุปกรณ์สื่อสาร จะเห็นได้ว่า หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ฝรั่งเศสและตุรกีก็ยังมีรายได้หลักจากการส่งออกสินค้าจำเป็นอื่นๆ อยู่ ส่วนของฝรั่งเศส การส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือยของเขานั้นดูจะกลายเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับคนชาติอื่นๆ ไปแล้วจากแบรนด์ของเขา 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยของเราไม่ได้พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะเรายังเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตผลทางการเกษตรเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่รายได้หลักในผลิตภัณฑ์มวลรวมของเรามาจากภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นภาคหลัก โดยภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วน 39.2% ของจีดีพีและภาคเกษตรกรรมเป็นสัดส่วน 8.4% ของจีดีพี ซึ่งน้อยกว่าภาคการขนส่งและการค้า ตลอดจนการสื่อสารซึ่งเป็นสัดส่วน 13.4% และ 9.8% ของจีดีพีตามลำดับ ภาคก่อสร้างและเหมืองแร่เป็นสัดส่วน 4.3% ของจีดีพีภาคอื่น 

 และถ้าในอนาคต เราหวังพัฒนาและพึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น มีโรงแรม  สนามบินมากมาย เอาทรัพยากรมนุษย์ไปลงที่อุตสาหกรรมทางท่องเที่ยวเสียหมด คนสนใจอาชีพเกษตรกรรมน้อยลง หาเงินได้ก็มาซื้อข้าวปลาอาหารที่ต้องสั่งจากต่างประเทศมากขึ้น ถึงขนาดต้องสั่งข้าวหอมมะลิจากเวียดนาม และเมื่อเกิดวิกฤตการท่องเที่ยวขึ้นมา หายนะก็เห็นอยู่รำไร 

แม้ว่าฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆจะสู้ไทยไม่ได้ แต่การที่ไทยได้เป็นประเทศอันดับหนึ่งที่คนมาเที่ยวมากที่สุดนั้น แม้ว่าจะน่าดีใจ แต่ก็เป็นเครื่องเตือนใจเตือนสติอย่างดี เพราะหากเราเปรียบเทียบกับรายได้หลักและความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการผลิตของประเทศอื่นๆที่แพ้เรา เราไม่ควรจะดีใจและคิดมุ่งพึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เราควรตั้งสติมากกว่า เพราะมันไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน ขอย้ำว่า ไม่ได้จะไม่ให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่ควรพึ่งพาการท่องเที่ยวแต่พอดีพอควร ควรมุ่งที่เรื่องการผลิตข้าวปลาอาหารให้พอเพียงเป็นสำคัญมากกว่า เพราะภูมิประเทศได้เปรียบอยู่มากโข ผู้คนก็มีทักษะในเรื่องดินน้ำอยู่มากแล้ว

ท่องเที่ยวเป็นของมายา... ข้าวปลาสิของจริง

158087515716 158087516938