วิกฤติหรือโอกาสบนความผันผวน

วิกฤติหรือโอกาสบนความผันผวน

ตลาดการเงินโลกเปิดรับศักราชใหม่ด้วยความตื่นตระหนกและหวาดกลัวกับหลากหลายเหตุการณ์สำคัญ ตั้งแต่ยังไม่พ้นเดือนแรกของปี

 ไล่เรียงมาจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน จนกระทั่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีนและกำลังลุกลามไปยังกว่า 18 ชาติทั่วโลกแล้ว โดยล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและลดการกระจายตัวของเชื้อไวรัส ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและภาพรวมการลงทุนในปี 2563 อย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อมองกลับมายังบ้านเรา ประเด็นในประเทศเองก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อาทิ ภาวะภัยแล้ง และ ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ขณะเดียวกัน แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐยังเผชิญกับอุปสรรคจากกรณีการให้สิทธิ์ออกเสียงแทนกันในสภาผู้แทนฯ จนเป็นเหตุให้การบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปีงบประมาณปัจจุบัน มีโอกาสล่าช้าออกไปถึงไตรมาส 2/63 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบสำหรับโครงการลงทุนใหม่ได้

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงผลกระทบจากเชื้อไวรัสดังกล่าว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการซ้ำเติมความเปราะบางทางเศรษฐกิจอีกมิใช่น้อย น่าจะมีความรุนแรงกว่าช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) ในปี 2546 เนื่องจากประเทศไทยที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก (Small open economy) พึ่งพิงรายได้จากต่างประเทศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วน 11.5% ของจีดีพี และ 1 ใน 3 มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน) ซึ่งมากกว่าในอดีตที่ 18% ของรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้ง ความเชื่อมโยงด้านการผลิตและการส่งออกระหว่างที่ใกล้ชิดกันในภูมิภาค ยังมีแนวโน้มขยายผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปอีกหลายภาคส่วน โดยจะสะท้อนผ่านการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนในตลาดเร็ว ๆ นี้

แม้ว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในภาวะผ่อนคลาย แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ยังขยายตัวเชื่องช้าและขาดแรงสนับสนุนเชิงรุก คงทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลงในสายตานักลงทุน นอกจากนี้ ปัจจัยลบจากทั้งในและต่างประเทศที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง สร้างความผันผวนและยังคอยกดดันดัชนีตลาดหุ้นไทย ซึ่งอาจทำให้เป้าหมายในปีนี้ที่เคยประเมินไว้ที่ระดับ 1,700 จุด มีโอกาสพลาดเป้าค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินโลกที่ผันผวนท่ามกลางความเสี่ยงที่เกิดขึ้น อาจมองเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนในการทยอยสะสมตราสารต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว เพื่อสร้างผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ บลจ.วรรณ จึงแนะนำการจัดพอร์ตแบบกระจายสินทรัพย์ โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนในหุ้น (45%) มากกว่าตราสารหนี้ (42.5%) เล็กน้อย ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่ความไม่แน่นอนยังเป็นปัจจัยกดดันภาวะตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ฉะนั้นจึงกำหนดสัดส่วนที่เหลืออีก 12.5% ถือครองทองคำเป็นส่วนใหญ่ เพื่อลดความผันผวนในพอร์ต สำหรับหุ้น น้ำหนักยังให้เป็นไทย 20% แต่เน้นกระจายไปยังต่างประเทศ 25% ส่วนตราสารหนี้ ให้เน้นพันธบัตรและหุ้นกู้ในประเทศระยะสั้นถึงกลาง เป็นหลัก (37.5%) ซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ประมาณ 6-7% ต่อปี