ซูจี “แก้ต่าง” ไม่ได้ “แก้ตัว” กรณีโรฮิงญา 00

ซูจี “แก้ต่าง” ไม่ได้ “แก้ตัว” กรณีโรฮิงญา 00

เป็นโอกาสให้ชาวโลกได้ฟังความจากปากของเธอบ้าง

ที่ตั้งแต่ปี 2017 เธอถูกตั้งข้อสังเกตว่า'เพิกเฉย'ภัยทำลายชีวิตทรัพย์สินที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยชาวโรงฮิงญา

ในช่วง 10 - 13 ธ.ค. 2019 ออง ซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมาได้นำคณะผู้แทนเมียนมาเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมาซึ่งประเทศแกมเบียยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์

ศาลฯนี้ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้ เพียงแต่สมาชิกสหประชาชาติสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติโดยอาศัยคำตัดสินของศาลฯ

คำชี้แจงให้การของออง ซาน ซูจีในภาษาอังกฤษที่น่าจะต้องผ่านการปรึกษาเห็นชอบจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะจากรัฐบาล‘ทหาร’มาแล้วนี้ แบ่งเป็น 36 ข้อ จัดลำดับข้อมูลอย่างดี ใช้ประโยคพื้นฐาน สั้น อ่านง่ายเข้าใจง่าย เลือกใช้ถ้อยคำอย่างดียิ่งจากมุมมองของ “คนใน” ผู้มีความเข้าใจรู้จักมุมมองของ“คนนอก” ว่ามีมาตรฐาน “ประชาธิปไตย” ต่อชีวิตทรัพย์สินพลเมืองอย่างไร เลือกใช้ข้อมูลที่ผ่านการสืบสวนจากคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงมาแล้ว สร้างความเข้าใจโดยมีการเปรียบอย่างมีเหตุผลกับภัยคล้ายกับที่เกิดกับชาวโรฮิงญาในพื้นที่อื่นเช่นในโครเอเชีย ไร้การถกเถียงใช้ถ้อยคำประณามผู้เห็นต่างและเพียงเพราะมีระบบทางการเมืองที่แตกต่าง

ผู้เขียนชอบนักข้อ 29 ที่มีระบุว่า วาทกรรมเกลียดชัง (Hate narratives) ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่hate speech แต่หมายถึงการใช้ภาษาที่แบ่งขั้วอย่างสุดโต่ง (language that contributes to extreme polarization)ด้วย

คำชี้แจงให้การนี้จึงน่าอ่านน่าคิดทำความเข้าใจและย้อนดูตัว ทั้งสำหรับประเทศที่มีทรัพยากรพร้อมทุกด้านในการปกครองระบอบประชาธิปไตย (more resourceful)มาก เช่น เนเธอร์แลนด์ เป็นต้นและสำหรับประเทศที่กำลังอยู่ในกระบวนการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีความพร้อมทางทรัพยากรทุกด้านน้อยกว่า(less resourceful) โดยเฉพาะในประเทศมีรัฐบาลทหารเต็มรูปแบบ เช่น ซูดาน หรือรัฐบาลพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตยแต่ก็ไม่“เต็มใบ”ตั้งแต่การเขียนรัฐธรรมนูญอย่างเช่น ไทย เมียนมา ตลอดจนรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยแต่ฝ่ายค้านแทบไม่มีตัวตนด้วยหลายสาเหตุ เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นประเทศมีทรัพยากรพร้อมมากกว่าทุกด้านในการปกครองระบอบประชาธิปไตยทำให้ประเทศกลุ่มนี้มีอิทธิพล เป็นผู้ "กำหนดทิศทางวาระ"เกี่ยวกับมาตรฐานประชาธิปไตยในวงการข่าวสารโลกจากมุมมองของตนในฐานะเป็น "คนนอก" ซึ่งในข้อดีก็มี "ข้อด้อย

ในโลกปัจจุบันเราจึงไม่ควร เชื่อและฟังความ ข้างเดียวจากระบบข่าวสารข่าวต่างประเทศของโลก

สองสามทศวรรษที่ผ่านมา ระบบข่าวสาร “ต่างประเทศ” ทำให้ทั้งโลกเสนอการเชิดชูยกย่องออง ซาน ซูจี อย่างมากในฐานะผู้นำต่อสู้รัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อประชาธิปไตย มอบรางวัลต่าง ๆ ให้มากมาย แต่เมื่อเธอไม่แสดงตนเป็นคู่ต่อสู้หรือประนามรัฐบาลเมียนมาในรูปแบบและเนื้อหาที่กลุ่มประเทศมีทรัพยากรพร้อมมากกว่าในการปกครองระบอบประชาธิปไตยถือเป็นมาตรฐานในกรณีชาวโรฮิงญา ก็ถูกกดดันด้วยวิถีต่างๆ ทางสื่อ “ต่างประเทศ” จนถึงเรียกคืนหรือริบรางวัล พาดหัวข่าวอย่างหมิ่นศักดิ์ศรีซึ่งวงการข่าวสารบ้านเราก็แปลตรงๆ จากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น จากสัญลักษณ์แห่งสันติภาพกลับกลายเป็นผู้แก้ต่างคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นต้น น่าชมเชยเธอที่ไม่หวั่นไหวแรงกดดันเช่นนี้และยืนหยัดตามที่เห็นสมควร

จริงหรือที่ออง ซาน ซูจี ไม่รู้สึกรู้สาไม่สนใจภัยต่อร่างกาย ชีวิต ที่อยู่อาศัย และทรัพย์สิน ที่เกิดขึ้นกับชาวโรงฮิงญาอย่างที่สื่อต่างประเทศเสนอข่าว

ในคำชี้แจงต่อศาล ฯของรัฐบาลเมียนมาที่เธอเป็นผู้นำเสนอต่อศาล ได้ยอมรับอย่างชัดเจนว่ามีเกิดขึ้นจริง บรรดาภัยต่อชีวิต ที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินทั้งหมดที่ชาวโรฮิงญาประสบมา รัฐบาลเมียนมามิได้ปฏิเสธ

สิ่งที่รัฐบาลเมียนมาและเธอปฏิเสธ คือข้อกล่าวหาที่ว่ามีความตั้งใจจงใจ (intent ) ของรัฐบาลเมียนมาที่จะใช้กำลังรัฐกระทำการฆ่า ปล้นสะดม ข่มขืน ขับไล่ อย่างเป็นการฆ่าล่างเผ่าพันธุ์(genocide )ตามข้อกล่าวหา( ข้อ 11 - 16)

คำชี้แจงแสดงจุดยืนว่า ในสถานการณ์สู้รบปราบปรามที่เรื้อรังในประเทศนานกว่าครึ่งศตวรรษระหว่างกำลังของรัฐและกำลังติดอาวุธของชนเผ่าในหลายพื้นที่ (an internal armed conflict) รวมทั้งพื้นที่รัฐอารากาน หรือ ยะไข่ ในภาษาไทยที่มีประชากรชาวโรฮิงญาอาศัยหนาแน่นจนกลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรงบ้านแตกสาแหรกขาดจนต้องอพยพหนีนั้น ไม่ใช่ความตั้งใจจงใจของรัฐบาล แต่เมื่อเกิดขึ้นย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เป็นความผิดทางอาญาที่รัฐบาลเมียนมาได้เคยมีการสอบสวนดำเนินคดีและมีพันธะจะต้องทำต่อไป มีเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิดถูกศาลตัดสินจำคุกไปแล้วหลายคดี และต้องให้ระบบศาลยุติธรรมของทหารของประเทศได้ทำงานและพัฒนาต่อไป มั่นใจได้ว่าชาวโรฮิงญาสัญชาติเมียนมาจะต้องได้คืนถิ่นตามศักดิ์และสิทธิ์

คำชี้แจงให้การเล่าสั้นๆความเป็นมาของชาวโรฮิงญาตั้งแต่สมัยอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคนี้ การแบ่งเขตประเทศบังคลาเทศและพม่าที่ผิดหลักพรมแดนและสร้างปัญหา (ทำให้ผู้เขียนนึกถึงปัญหาจากการที่ฝรั่งเศสแบ่งพรมแดนไทยกับกัมพูชา) และอื่น ๆที่พัวพันกันมา ซึ่งศาลฯและชาวโลกต้องเข้าใจ อีกทั้งยกตัวอย่างกรณีภัยต่อชีวิตทรัพย์สินจนถึงต้องอพยพหนีในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก เช่นในโครเอเชีย ซึ่งก็ใช่ว่าศาลฯจะเห็นว่าเป็นคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปเสียทุกกรณี

ไม่ว่าเธอจะถูกริบไปกี่รางวัล หรือคำตัดสินของศาลฯเมื่อ 23 ม.ค.2020 ว่าเมียนมาควร "ใช้ทุกมาตรการที่อยู่ในอำนาจเพื่อคุ้มครองทุกการกระทำ " ภายใต้อนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948 สำหรับผู้เขียน อองซาน ซูจี เป็น "ทรัพยากร" ที่มีค่ายิ่งในการสร้างประชาธิปไตยในเมียนมาและทำหน้าที่สื่อสารสาระสำคัญของเมียนมา ช่วยเติมเต็มให้กับวงการข่าวต่างประเทศที่ในบางกรณียังไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึงหรือเป็นเพราะมีอคติ.